ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์คมชัดลึก-รัฐบาลเตรียมเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 15 ก.ค. - 15 ส.ค.นี้ ผ่าน 3 แบงก์รัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ ธ.ก.ส.ชี้จะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ถูกต้องในการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมต่อไป คาดจะมีผู้มาลงทะเบียนผ่าน 3 ธนาคาร ประมาณ 5 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนทั้งสิ้น 10 ล้านคน ด้านกระทรวงการคลังย้ำเก็บข้อมูลไว้ที่กรมสรรพากรไม่รั่วไหลแน่นอน

นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเปิดโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ผ่านธนาคารของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ถูกต้องในการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมต่อไป โดยคาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนผ่าน 3 ธนาคาร ประมาณ 5 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนทั้งสิ้น 10 ล้านคน

ทั้งนี้ จากนี้ไปรัฐบาลจะบูรณาการฐานข้อมูล แล้วนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในอนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป แต่หากรัฐบาลมีสวัสดิการใหม่เพิ่มเติมออกมาในระหว่างการลงทะเบียนไม่เสร็จสิ้น ก็จะใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่ไปก่อน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังคงโอนเบี้ยยังชีพไปยังผู้ที่เสียชีวิต โดยพบว่ามีกว่าแสนรายจากทั้งหมด 8 ล้านราย ทำให้เงินดังกล่าวไปไม่ถึงผู้รับอย่างแท้จริง ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อจะได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง

“กรมสรรพากรจะเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลที่ผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียน ไม่ใช่เก็บไว้ที่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ดังนั้น โอกาสที่ข้อมูลของผู้ลงทะเบียนรั่วไหลหรือถูกล้วงจะไม่มี รวมทั้งไม่ถูกเปิดเผยรายได้ หรือหนี้สินว่ามีมากน้อยแค่ไหน” นายพรชัย กล่าวและว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ลงทะเบียนสามารถเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร แล้วกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองเข้าไป ระบบก็จะแจ้งผลการลงทะเบียนให้ทราบว่าได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วหรือไม่

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนคือ ต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2541 อยู่ในภาวะว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทในปี 2558 ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตน เช่น รายได้ การถือครองทรัพย์สิน หนี้สินที่คงค้าง เป็นต้น เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ โดยหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนจะมีเพียงบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประเมินว่า จะมีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนกับธนาคารประมาณ 3 - 4 ล้านคน หรือสูงสุด 7 - 8 ล้านคน โดยธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าแม้ลูกค้าจะเข้ามาลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมาก แต่ก็จะไม่มีปัญหาในการรับลงทะเบียน ซึ่งธนาคารจะทยอยพิมพ์ข้อมูลได้เสร็จสมบูรณ์อย่างแน่นอน

ขณะที่นายวันชัย เจริญชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการหนี้สินนอกระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนจะต้องแสดงตัวตนต่อพนักธนาคาร ไม่สามารถส่งตัวแทนมาได้ ยกเว้นกรณีอายุ 70 ปีขึ้นไป หรือพิการ จะต้องมีบัตรพิการและหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนลงทะเบียนแทนได้ที่สาขาธนาคารทั่วประเทศ

สำหรับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมความพร้อม โดยแยกจุดรับลงทะเบียนออกมาในแต่ละสาขาของธนาคาร เพื่อให้ประชาชนได้รับรับความสะดวกในการเข้ามาลงทะเบียน

ที่มา: www.komchadluek.net