ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ : กลุ่มแพทย์และนักธุรกิจอสังหาฯ ลงขัน 30-40 ล้าน เปิดโรงพยาบาล "เฌ้อสเซอรี่ โฮม" รับเทรนด์ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ชูจุดเด่นการให้บริการครบทั้งการตรวจรักษาโรค และการบริการดูแล คาดปลายปีเปิดให้บริการ พร้อมวาดแผน 2-3 ปีผุดเนิร์สซิ่งโฮมครอบคลุม 4 มุมเมืองกรุงเทพฯ

นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ

นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฌ้อสเซอรี่ โฮม (Chersery home) บริษัท เก่ง ภิญ เนอสซิ่งแคร์ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กลุ่มแพทย์และนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รวม 9 รายร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 21 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและสถานพยาบาล สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากมองว่าโครงสร้างประชากรศาสตร์ของไทยกำลังมุ่งไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จำเป็นจะต้องมีสถานที่ไว้ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าว รวมถึงทีมแพทย์มีความต้องการที่จะดูแลผู้สูงอายุมากกว่าทางด้านร่างกาย คือเป็นการดูแลโดยรวมทั้งร่างกายและจิตใจอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลและเนิร์สซิ่งโฮมเฉพาะผู้สูงอายุยังมีปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 มีเนิร์สซิ่งโฮมที่ลงทะเบียนไว้ 15 รายทั่วประเทศประมาณ 600 เตียง ปัจจุบันจากการสำรวจตลาดเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามีกว่า 100 แห่ง จำนวนมากกว่า 1,000 เตียง โดยแนวโน้มเชื่อว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า โรงพยาบาลเฌ้อสเซอรี่ โฮมนั้น ก่อสร้างเป็นอาคารขนาด 5 ชั้นบนเนื้อที่กว่า 200 ตารางวา โดยยึดหลักตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เป็นโรงพยาบาลขนาด 25 เตียง ประกอบด้วยห้องตรวจคนไข้ 2 ห้อง พื้นที่สำหรับการทำกายภาพบำบัด พื้นที่การทำกิจกรรมสันทนาการ และที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้เงินลงทุนก่อสร้างประมาณ 30-40 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินซึ่งตั้งอยู่บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้วกว่า 70-80% ซึ่งตามแผนน่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงวันที่ 25 ธันวาคม 2559 นี้

ส่วนรูปแบบการให้บริการจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. การบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอก ที่เน้นโรคสำหรับผู้สูงวัย อาทิ ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือด เป็นต้น รวมถึงการให้บริการด้านกายภาพบำบัด

2. การบริการเดย์แคร์ ด้วยการดูแลผู้สูงวัยในช่วงเวลากลางวัน และการจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เหมาะกับผู้สูงวัย

และ 3. การบริการเนิร์สซิ่งโฮม ทั้งผู้เจ็บป่วยและผู้ที่ไม่ได้เจ็บป่วย ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการทั้งรูปแบบรายอาทิตย์ รายเดือน และรายปี

ด้านบุคลากรสำหรับการให้บริการ เบื้องต้นมีทีมแพทย์ด้านอายุรกรรมและกายภาพบำบัด 5 คน พยาบาลประจำ 3 คน ผู้ช่วยพยาบาล 16 คน และนักกิจกรรมสันทนาการ 2 คน

ขณะที่จุดเด่นของโรงพยาบาลจะมีการให้บริการเดย์แคร์ที่มีกิจกรรมให้ผู้สูงวัยได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวผู้สูงวัย เช่น กิจกรรมดนตรี หัตถกรรม เป็นการนำเอาศิลปะเข้ามาช่วยเรื่องของจิตใจ การทำอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย ซึ่งทางโรงพยาบาลจะจัดกิจกรรมตลอดสัปดาห์ไม่ซ้ำกัน แต่ละคลาสที่เปิดจะรับผู้สูงวัย 10-15 คน ถือว่าเป็นการบริการที่ยังไม่ค่อยมีเห็นทั่วไป ขณะที่การตรวจสุขภาพและโรคภัยต่างๆ จะให้บริการได้ประมาณ 20 คนต่อวัน เพราะต้องใช้ความละเอียดในการให้บริการ ส่วนกรณีที่ผู้สูงวัยมีอาการหรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ หรือขณะที่พักอยู่ในโรงพยาบาลจะทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ผู้สูงวัยได้แจ้งไว้ก่อนหน้าที่จะเข้ามาพักในโรงพยาบาล

สำหรับอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป 20-30% ซึ่งแผนงานในอนาคตทางโรงพยาบาลต้องการขยายเครือข่ายเนิร์สซิ่งโฮมให้มีครบทุกมุมเมือง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการภายหลังจากที่ได้เปิดให้บริการโรงพยาบาลแห่งแรกไปแล้ว 2-3 ปี ส่วนมูลค่าการลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของการให้บริการ ส่วนแผนการตลาดทางโรงพยาบาลเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ รู้ก่อนไว้ลืมแก่ บายหมอเก่ง รวมถึงการจัดสัมมนาให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 4 - 6 ส.ค. 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง