ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกเทศมนตรีตำบลเหล่าเสือโก้ก ฉายภาพอุปสรรคการขับเคลื่อนนโยบายดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ระบุทุกอย่างดีหมดยกเว้นปัญหาเดียวคือไม่มีความชัดเจนเรื่องระเบียบการเบิกจ่าย ส่งผลให้กองทุนสุขภาพทุกตำบลทั่วประเทศติดขัด ชี้ท้องถิ่น-กรรมการกองทุน ต้องกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสนอให้ สธ.ทำเอ็มโอยูร่วมกับ มท.เพื่อคลอดเกณฑ์ที่ชัดเจน

นายกฤตนัน ปุสิงห์

นายกฤตนัน ปุสิงห์ นายกเทศมนตรีตำบลเหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ปี 2559 ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการดำเนินงานทุกตำบลทั่วประเทศก็คือไม่มีเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นระดับตำบล หรือกองทุน Long Term Care ที่ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางมาแล้วนั้น ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ที่สุดแล้วงบประมาณก็ค้างท่ออยู่ในกองทุนโดยไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

“ในส่วนของตำบลเหล่าเสือโก้กนั้น คณะกรรมการกองทุนซึ่งมีผมในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลเหล่าเสือโก้กเป็นประธาน ได้แก้ปัญหาด้วยการหาหลักเกณฑ์มายึดเพื่อให้เป็นข้ออ้างอิงในกรณีที่ถูกตรวจสอบหรือมีผู้มาติดตามความโปร่งใสในการเบิกจ่ายในอนาคต” นายกฤตนัน กล่าว

สำหรับเกณฑ์การเบิกจ่ายที่คณะกรรมการเห็นชอบร่วมกัน ได้แก่ 1. การเบิกเบี้ยเลี้ยงให้นักบริบาลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) ซึ่งมีหน้าที่ลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงนั้น จะใช้ระเบียบของท้องถิ่นคือระเบียบเทศบาล 2.ผู้จัดการนักบริบาลผู้สูงอายุ (Care Manager: CM) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการระบบของทั้งตำบล และมีหน้าที่เขียนแผนดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan) นั้น ให้เบิกจ่ายตามระเบียบของโรงพยาบาล 3.วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หากจำเป็นต้องมีการซื้อก็ให้เป็นไปตามระเบียบของโรงพยาบาลต่างๆ เช่นกัน

นายกฤตนัน กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการกองทุนเห็นชอบร่วมกันก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ทันที โดยเมื่องบประมาณจากส่วนกลางลงมา ก็สามารถเบิกจ่ายเพื่อให้งบประมาณลงไปถึงผู้สูงอายุได้ทันที โดยการดำเนินการทั้งหมดก็เป็นไปตามประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องส่ง CM ไปอบรม จากนั้น CM ก็จะเป็นผู้เขียน Care Plan ออกมา จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะเบิกจ่ายงบประมาณตาม Care Plan ให้เขาไปปฏิบัติภารกิจ

สำหรับการดำเนินการในพื้นที่โดย CG นั้น จะเป็นไปตาม Care Plan ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น คุณยาย ก. มีอายุเท่าใด ถูกจัดอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มใด ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง ใน 1 สัปดาห์ จำเป็นต้องให้การดูแลอย่างไรบ้าง CG ต้องมาเยี่ยมบ้านกี่ครั้ง ต้องได้รับการนวดกี่ครั้ง ภายใน 1 เดือน ต้องใช้งบประมาณสำหรับคุณยาย ก.เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปตามรายละเอียดใน Care Plan ทั้งสิ้น

นายกฤตนัน กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สปสช.เป็นอย่างดี การดำเนินการแทบไม่มีอุปสรรคอะไรเลยนอกจากประเด็นการเบิกจ่ายในข้างต้น แต่ปัจจุบันเมื่อคณะกรรมการกองทุนมีมติร่วมกันว่าให้เบิกจ่ายตามเกณฑ์ของเทศบาลและโรงพยาบาล ก็สามารถทำให้งานเดินหน้าไปได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

“ปัญหาของทุกแห่งก็คือกองทุนไม่กล้าเบิกจ่าย ซึ่งหากท้องถิ่นไม่ขับเคลื่อนหรือคณะกรรมการไม่ขับเคลื่อนเอง งานก็เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนตัวเคยมีโอกาสเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อ รมว.สธ.แล้ว ในขณะที่ท่านลงมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ โดยท่านก็เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีและเป็นหนึ่งโมเดลที่สามารถแก้ปัญหาได้” นายกฤตนัน กล่าว

สำหรับข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการเบิกจ่ายคือ เบื้องต้น สธ.ควรจะจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ

กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อกำหนดระเบียบการเบิกจ่ายให้ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว คือจะใช้ของท้องถิ่นหรือของ สธ.ก็ได้ หรือจะใช้ร่วมกันก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องให้ท้องถิ่นสามารถมีอำนาจในการบริหารกองทุนโดยตรง เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือเป็นทางออกที่ถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาได้จริง สามารถปลดล็อกและทำให้งบประมาณลงไปสู่ประชาชนได้จริงภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หลังจากได้รับงบประมาณ

“ตัวกองทุนมันดีแล้ว งบประมาณโอเค การกำหนดให้ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มไหนๆ ก็ดี ทุกอย่างมันชัดเจนอยู่แล้ว ติดขัดอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่ชัดเจน ซึ่งความรู้สึกของท้องถิ่นก็คือไม่กล้าเบิกจ่ายเพราะกลัวผิดระเบียบ คือสั่งให้ทำแต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ฉะนั้นทางออกเดียวในขณะนี้ก็คือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท้องถิ่น นั่นก็คือคณะกรรมการกองทุน ถ้าไม่กล้าตัดสินใจเพื่อหาวิธีเบิกจ่าย งบประมาณที่ได้รับมาก็จะไม่มีประโยชน์” นายกฤตนัน กล่าว  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.คลอดเกณฑ์ใช้เงินกองทุนสุขภาพท้องถิ่นดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง