ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นสร้าง Hospital SmartQ App ชูแนวคิดให้ผู้ป่วยทราบความเคลื่อนไหวลำดับคิวเข้ารับบริการในโรงพยาบาล ไม่ต้องรอต่อคิวหน้าห้องตรวจ ไร้จดจ่อ ช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด เพิ่มความสุขในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ประเทศไทยประสบปัญหาสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งมาจากประชากรจำนวนมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนแพทย์และโรงพยาบาลภาครัฐที่มีอย่างจำกัด นอกจากนี้ผู้ป่วยยังประสบปัญหาการต่อคิว โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ ที่ใช้เวลายาวนาน

ตามข้อมูลการสำรวจจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ผู้ป่วยใช้เวลาเข้าคิวเพื่อรักษาเฉลี่ยกว่า 3 ชั่วโมง และมากสุดยาวนานถึง 8 ชั่วโมง นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะในยุค 4.0 ที่รัฐบาลยกให้นโยบายสาธารณสุขเป็น 1 ใน 5 กลไกที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศไทยในเวลานี้

การแข่งขันโครงการ KKU mHealth Bootcamp and Hackathon ภายใต้แนวคิด “Bringing together innovators to co-create digital solutions for health issues in Thailand” จึงเกิดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ MIT Sana และบุคลากรจาก Harvard Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเฟ้นหา mobile technology ในการแก้ปัญหาทางสุขภาพหรือปัญหาสาธารณสุขศาสตร์ อันจะนำไปสู่การยกระดับสุขภาพองค์รวม ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

Hospital SmartQ เกิดจากปัญหารอคิวนานในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยเจ้าหน้าที่ที่เผชิญปัญหาโดยตรงมาจากทีม Srinagarind Dream Team ประกอบด้วย นพ.ธนภพ ณ นครพนม ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน และ นพ.เสฏฐวุฒิ โกศัลวัฒน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จับคู่กับทีมคิดค้นพัฒนาแอปพลิเคชัน Next innovation ประกอบด้วยนายอำนาจ รัตนเมือง นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ นางสาวโชติรส เกียรติพนมแพ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นายประวีร์กานต์ ปิ่นประสงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยนานาชาติ สาขานิเทศศาสตร์ นางสาวชนิสรา ธนาไชยสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งผลงานดังกล่าวสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ในที่สุด 

นพ.ธนภพ ณ นครพนม

นพ.ธนภพ ณ นครพนม ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า “จากข้อมูลผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตั้งแต่แรกกระทั่งเสร็จใช้เวลาโดยเฉลี่ยที่ 3 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ระยะเวลานานที่สุดที่เราเก็บได้อยู่ที่ 8 ชั่วโมง ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้เข้ารับบริการมีความเร่งรีบ อยากตรวจเร็ว แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมาก การจะลดเวลาการตรวจอาจจะสามารถทำได้ยาก เพราะฉะนั้นจะทำอะไรให้ระยะเวลาที่เขารอคอย เป็นเวลาที่มีความสุข ลดความเครียดกับตัวผู้ป่วยมากที่สุด จึงนำมาสู่วิธีแก้ปัญหาในแอปพลิเคชัน โดยการแสดงให้เห็นว่าคิวของผู้ป่วยอยู่ลำดับไหนแล้ว ผู้ป่วยสามารถรู้ได้ว่านานแค่ไหนจึงจะถึงคิวตนเอง ระหว่างนั้นผู้ป่วยจะได้สามารถวางแผนเวลาได้ ทั้งการดื่มกาแฟ พักผ่อน นอกจากผู้ป่วยจะมีความผ่อนคลายมากขึ้น ก็สามารถลดความเครียด เพิ่มความสุขในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้เช่นกัน” นพ.ธนภพ กล่าว

เมื่อทราบปัญหาทีมพัฒนา จึงสร้างแอปพลิเคชัน Hospital SmartQ ขึ้นเพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวลำดับคิวในการรับบริการ การทำงานของแอปพลิเคชัน เริ่มต้นเมื่อผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่แผนกคัดกรองผู้ป่วย จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าในการรอคอยตรวจแพทย์ มี 3 ทางเลือก คือ

1.ติดตามความเคลื่อนคิวไหวผ่าน Hospital SmartQ App

2.การแจ้งเตือนผ่านข้อความสั้น หรือ sms กรณีผู้ใช้งานไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน

3.ใช้ระบบกระดาษ หรือ ใบนำทางแบบเดิม

ซึ่งหน้าแรกของ Hospital SmartQ App ผู้ใช้งานจะสามารถลงทะเบียน โดยใช้เลขประจำตัวผู้ป่วย และยืนยันตัวตนโดยบัตรประชาชน หลังจากนั้น Hospital SmartQ App จะแสดงหน้าจอหลักประวัติผู้ป่วย และคิวที่ต้องดำเนินการในวันนั้นๆ

นายอำนาจ รัตนเมือง

นายอำนาจ รัตนเมือง นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ผู้รับหน้าที่หลักในการพัฒนาโปรแกรม เผยว่าเมื่อพยาบาลกรอกเลขประจำตัวผู้ป่วยในระบบ ในขณะผู้ป่วยใช้ Hospital SmartQ App จะทราบว่าต้องไปที่แผนกใด จุดเด่นของแอปพลิเคชันคือการใช้ควบคู่กับ QRCODE จะสามารถนำทางผู้ป่วยเดินทางไปยังจุดตรวจต่อไปได้อย่างแม่นยำ

“ผู้ที่ใช้ Hospital SmartQ App จะได้รับการแจ้งเตือนเวลาการรอคอย ทำให้สามารถวางแผนจัดการเวลาได้ เกิดการรอคอยในลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อใกล้ถึงคิวของตนเอง จะมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน หรือข้อความสั้น และหลังจากพบแพทย์ ระบบจะแจ้งเวลาที่เหลือในการรอคอยชำระค่าใช้จ่ายและรับยา ทั้งนี้กรณีที่ผู้ป่วยต้องเจาะเลือด หรือเอ็กซ์เรย์เพื่อวินิจฉัยโรค แอปพลิเคชันจะแจ้งจำนวนคนรอก่อนหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกต่อคิวที่สั้นกว่า แอปพลิเคชันจะแจ้งเวลาในการรับการรักษาทุกขั้นตอนเพื่อให้ผู้ป่วยไร้ข้อกังวลกับการรอคิว ทั้งนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวจะถูกต่อยอดเพื่อพัฒนานำร่องใช้จริงในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแห่งแรกในเร็วๆ นี้” นายอำนาจ กล่าว

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี

ผศ.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร กล่าวว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย สิ่งหลักที่นักศึกษาได้เรียนรู้ คือการทำงานเป็นทีม สามารถปรับตนเองให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ ค้นพบประสบการณ์ใหม่เสมอ สนับสนุนให้นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองในศตวรรษที่ 21 การสร้างสรรค์ Hospital SmartQ App ไม่เพียงแต่ทำให้นักศึกษาได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่ยังเป็นการมอบรางวัลให้กับประชาชนชาวไทยทุกคนให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่สะดวกสบาย บริหารจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับประเทศไทยในยุค 4.0 อย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง