ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองทุนสุขภาพตำบล อบต.กุง ยกระดับโครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เป็นต้นแบบของอำเภอในศรีสะเกษ ด้วยผลงานการบริหารจัดการด้านงบประมาณ การเบิกจ่าย ที่ลงตัว ใช้ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. จัดทีมดูแลคุณภาพผู้สูงอายุจนมีพัฒนาการดีขึ้น  

สุคนธ์ทิพย์ นรสาร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้ผลักดันและรับผิดชอบโครงการดูแลผู้สูงอายุ Long Term Care ของกองทุนหลักประกันสุขภาพหรือกองทุนสุขภาพตำบล อบต.กุง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ จนปัจจุบันสามารถยกระดับและกลายเป็นต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวของ อ.ศิลาลาด

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจาก อบต.กุง และสาธารณสุขอำเภอ มีงบสนับสนุนจาก สปสช.จำนวน 2.3 แสนบาท และงบจัดการในส่วนของอำเภอ 1 แสนบาท เพื่อดูแลผู้สูงอายุจำนวน 46 ราย เริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือน ก.พ.2559 โดยดึงเอาพยาบาล นักกายภาพ นักวิชาการ เข้าอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ และอบรม "ผู้ดูแลผู้สูงอายุ" ที่นำมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จิตอาสา เพื่อพัฒนาดูแลผู้สูงอายุ โดยเชิญ สมาชิก อบต.กุง ผู้นำชุมชน และ อสม.ในชุมชนตำบลกุง ตลอดจนทุกภาคส่วนในตำบลเพื่อให้รับรู้ว่า เราจะทำกิจกรรมนี้

เป้าหมายคือ ผู้สูงอายุที่มีปัญหา เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือไม่มีคนดูแล ลักษณะการทำงานจะแบ่งกลุ่มดูแล โดยมอบหมายให้ผู้สูงอายุ 10 คนต่อ 1 ผู้ดูแลที่เราผลิตขึ้น แบ่งทีมผลัดกันดูแลเป็นประจำแต่ละวัน เพื่อดูว่า ทั้งเรื่องการทำแผล การทานข้าว ทานยา หรือ พลิกตะแคงตัว รวมถึงนำผู้สูงอายุออกมาคุยกับผู้สูงอายุรายอื่นๆ โดยอาจเข็นออกมาอยู่ในชุมชน

สำหรับการบริหารจัดการ เราตั้งศูนย์ผู้สูงอายุขึ้นอยู่ที่ อบต.กุง บริหารโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ อบต.และผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำงานทั้งหมด 5 วัน แบ่งเวรกันไปดูแต่ละวัน ศูนย์ดังกล่าวจะประชุมทุกวันอังคาร และวันศุกร์เพื่อมาสรุปว่า ปัญหาที่พบในสัปดาห์นั้นมีอะไรบ้างเพื่อวางแผนในสัปดาห์ต่อไป

สุคนธ์ทิพย์ กล่าวต่อว่า ดัชนีชี้วัดจะดูตามเกณฑ์ปฏิบัติ กิจวัตรประจำวัน โดยจะแบ่งผู้สูงอายุเป็น 4 กลุ่ม ตามปัญหาของผู้สูงอายุ ทั้งหมดต้องทำให้คุณภาพชีวิต สภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มต้องดีขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องข้ออักเสบ แผลกดทับ การใส่สายอาหาร ก็ต้องเอามาวัดด้วยว่า เขาดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้ามาดูผู้สูงอายุ ตั้งแต่เรื่องญาติที่ต้องเข้าใจและมีความรู้ในการดูแล ซึ่งผลสรุปในภาพรวมจากโครงการนี้ พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุหลายคนมีพัฒนาการดีขึ้น และยังสามารถยืดระยะเวลาการเสียชีวิตได้  

“ทั้งหมด เรายึด 5 ค. 5 ส. เช่น ความร่วมมือ ความเชื่อใจ ความสามัคคี โดย โรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ชุมชน ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลร่วมกัน” นางสุคนธ์ทิพย์ กล่าวถึงปรัชญาในการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ต่างมีนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว แต่ของ อบต.กุง อ.ศิลาลาด แตกต่างจากที่อื่นตรงที่ได้ออกแบบการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณ การเบิกจ่าย ที่ลงตัวระหว่างภาคส่วนของสาธารณสุขกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จนได้มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการของ เขต 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง