ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกร ม.ขอนแก่น ปฏิบัติการเชิงรุกนอกร้านขายยา ประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือนักสูบเลิกบุหรี่ ย้ำได้ผลและลดความแออัดในโรงพยาบาล

รศ.ภญ.สุนี เลิศสินอุดม กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือประชาชนเลิกบุหรี่ของร้านยาคุณภาพในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายในงานประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ : เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ว่า บทบาทของเภสัชกรในระดับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยปฐมภูมิมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาการสูบบุหรี่ในวัยเรียนของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งจากการทำงานทำให้เห็นภาพของปัญหาร้านขายยาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเกิดโครงการปฏิบัติการที่เรียกว่าสโมคกิ้งเซนเซชั่น ที่เข้ามาช่วยในการลดอัตราการสูบบุหรี่และเลิกการสูบบุหรี่ โดยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ผ่านการใช้ยาในการช่วยเหลือผู้สูบ

“ยกตัวอย่างร้านขายยาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าไม่มีนักศึกษาหรือบุคลากรมาขอผลิตภัณฑ์ยาช่วยเลิกบุหรี่เลย จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูบที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถจะเข้าถึงยาได้ จึงริเริ่มจากเภสัชกรเองที่ให้คำแนะนำ และสอบถามผู้มาซื้อยาทุกครั้งว่าสูบบุหรี่หรือไม่ หรือมีคนรู้จักสูบบุหรี่ด้วยหรือไม่ หากมีเราจึงชวนเลิกบุหรี่” รศ.ภญ.สุนี กล่าว

รศ.ภญ.สุนี กล่าวว่า เมื่อสอบถามผู้สูบทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่ต้องการจะเลิกบุหรี่ แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ และที่น่าสนใจคือเมื่อไปรักษาตัวหรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้พูดเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ดังนั้นเภสัชกรจึงเริ่มจากจุดนี้ด้วยการสอบถามและให้คำแนะนำ ทั้งการปฏิบัติการเชิงรุก และเชิงรับ

“ในส่วนเชิงรุกนั้น เภสัชกรจะเดินออกนอกร้านขายยาเพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งคัดกรองและจัดเก็บข้อมูลของผู้สูบ รวมถึงให้การรักษาและติดตามผล เราออกพื้นที่ทั้งตลาดนัด หรือถนนคนเดิน ซึ่งเป็นจุดที่วัยรุ่นอยู่กันจำนวนมาก รวมถึงเยี่ยมบ้านและช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ” รศ.ภญ.สุนี กล่าว

ทั้งนี้ จากการติดตามผลการปฏิบัติการทำให้พบว่า ร้านยาสามารถขายยาเลิกบุหรี่ได้ จำนวนคนไข้ก็ลดลง จำนวนการสูบลดลง และที่สำคัญสมรรถภาพปอดของคนไข้ดีขึ้น เพราะมีการวัดค่าอยู่เป็นประจำสำหรับผู้สูบ ที่สำคัญคือมีฐานข้อมูลสำหรับผู้ป่วย และร้านยาทั่วประเทศขณะนี้มีอยู่ราว 300 กว่าแห่ง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ ในเรื่องของการให้บริการ ร้านขายยา และเภสัชกรสามารถตอบโจทย์ได้ว่า ร้านยาก็สามารถให้บริการด้านนี้ได้ไม่ต่างจากโรงพยาบาล เพราะมีการดำเนินการทั้งเชิงรุกและรับ

“สำหรับค่าใช้จ่ายสำรับการให้บริการเลิกบุหรี่ โดยคนไข้มีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 900 บาทเท่านั้น ร้านยาก็ทำงานด้วยมืออาชีพไม่ต่างจากโรงพบาบาล รวมถึงช่วเหลือการส่งต่อผู้ป่วยได้ด้วย ที่สำคัญผู้สูบที่ต้องการเลิกบุหรี่ก็มีความพึงพอใจ เพราะไม่จำเป็นต้องเสียเวลาที่โรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากร้านขายยาสามารถช่วยเหลือในเรื่องการเลิกบุหรี่ได้” รศ.ภญ.สุนี กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง