ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองเรื้อรังที่มีระยะเวลาของการป่วยในช่วง 2 - 10 ปี ต่างยอมรับกับสภาพร่างกายที่ตนเป็นอยู่ และหมดความหวังที่จะกลับมามีร่างกายที่สามารถใช้งานได้ดีอย่างเดิม กระทั่งมีการสร้างนวัตกรรมต้นแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบมีส่วนร่วม โดยใช้การเคลื่อนไหวผสานลมหายใจแบบไท้เก๊กในชุมชน และประยุกต์การเคลื่อนไหวผสานลมหายใจแบบไท้เก๊กในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้น

จากรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง ไท้เก๊กเพื่อการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเรื้อรัง โดย มงคล ศริวัฒน์ และคณะ ปีพ.ศ. 2558 สนับสนุนโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของไท้เก๊กอันเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาเยียวยาโรคเรื้อรังในสังคมไทยปัจจุบัน

ความหมายของ “ไท้เก๊ก” ในปัจจุบันนั้น หากจะอธิบายความหมายของไท้เก๊กด้วยคำว่า “วิถีธรรมแห่งสุขภาวะ” น่าจะเหมาะสม หากย้อนกลับไปยังที่มาของคำว่า “ไท้เก๊ก” คือการเคลื่อนไหวร่างกายตามหลักคำอธิบายของลัทธิเต๋าเพื่อให้นักพรตและผู้ปฏิบัติตามสามารถบรรลุถึงการมีชีวิตที่ยืนนานและบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดในลัทธิของตน ดังที่ปรากฏในบทหนึ่งของหนังสือ Taijiquan Theory ของ Dr.Yangjing-ming The Root of Taijiquan ความว่า ไท้จี๋ฉวนคือศิลปะการต่อสู้รูปแบบภายในที่ถูกคิดค้นขึ้นในอารามของลัทธิเต๋าแห่งภูเขาอู่ตัง มณฑลหูเป่ย

การคิดค้นไท้จี๋ฉวนนั้นอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดทางปรัชญาของไท้จี๋ และ หยิน หยาง ศาสตร์ไท้จี๋ฉวน เชื่อถึงการกลับคืนสู่รากเหง้าต้นกำเนิดของชีวิต จากความเชื่อดังกล่าว เราสามารถฝึกฝนร่างกายอย่างถูกต้อง รักษาสุขภาพ และความแข็งแรงของทั้งกายเนื้อ และกายจิต ทำให้ได้รับชีวิตที่ยืนยาว และจากการที่ผู้นับถือลัทธิเต๋าล้วนแต่เป็นนักพรต เป้าหมายสุดท้ายของพวกเขาในการพัฒนาทางจิตวิญญาณคือการหลอมรวมเข้ากับจิตวิญญาณของธรรมชาติ

คำอธิบายเหล่านี้ได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ไท้เก๊ก ในหลากหลายมิติ มีทั้งการรักษาสุขภาพ การมีชีวิตที่ยืนยาว การพัฒนากายเนื้อและกายจิต ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ “จิต” เข้ามามีบทบาทต่อร่างกายและสร้าง “กาย” ที่มีสภาวะของจิตขึ้นมา ซึ่งเป็นอุบายด้านหนึ่งที่จิตใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาร่างกายให้กลับมาสมดุล ปรับปรุงสภาวะบาดเจ็บเสียหายที่กายมีอยู่ให้กลับมาใช้งานได้ดั่งเดิมเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ยืนยาว

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นอุบายเพื่อพัฒนาจิตให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้น มีความละเอียดขึ้น สามารถแยกตนเองจากกายและอยู่เหนืออิทธิพลของกาย ทั้งความเจ็บปวด ความหิวโหย ความหงุดหงิดรำคาญ หรืออาจเรียกโดยรวมว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความมานะถือตน เมื่อจิตอิสระจากกายอย่างถึงที่สุดจิตจึงสามารถหลอมรวมเข้ากับจุดมุ่งหมายสูงสุดของเต๋า คือ ภาวะ หวู่จี่ หรือการกลับสู่ความเป็นเต๋าอีกครั้งหนึ่ง

จากผลการศึกษาดังกล่าว พบว่าการบำบัดผู้ป่วยไท้เก๊กด้วยผู้บำบัดจากโรงพยาบาลที่ผ่านการฝึกฝนวิชาไท้เก๊กผ่านการเยี่ยมบ้านทุก 1 สัปดาห์รวม 9 ครั้ง และตามด้วยเยี่ยมบ้านทุก 2 สัปดาห์ รวม 5 ครั้ง และทุก 1 เดือน รวม 5 ครั้ง ไม่พบความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มย่อยพบว่า ผู้บำบัดด้วยศาสตร์ไท้เก๊กที่มีทักษะและศักยภาพสูงมีผลลัพธ์ที่ดีในด้านความผาสุกทางสังคม (Social well-being) และความผาสุกทางการปฏิบัติหน้าที่การงาน (Functional well-being) และคุณภาพชีวิต ความเข้มข้นของการฝึกและเวลาโดยผู้ป่วยเองส่งผลดีต่อผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต

สำหรับผู้ป่วยที่มีศักยภาพในการออกแบบท่าฝึกในการออกกำลังกายของตนเองส่งผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านของความผาสุกทางกายภาพ (Physical well-being) และความผาสุกทางการปฏิบัติหน้าที่การงาน (Functional well-being และคุณภาพชีวิต) สำหรับพัฒนาการของผู้ป่วยพบว่าผู้ป่วยเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านการเคลื่อนไหว สภาพจิตใจ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการเข้าสังคมได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ โครงการวิจัยยังได้นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไท้เก๊ก (Tai-Chi Medical Center) ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชมีการดำเนินงาน 3 แผนงาน คือ

1. แผนงานบริการรักษาและส่งเสริมสุขภาพด้วยไท้เก๊ก (Tai-Chi ServicesCenter) ประกอบด้วยคลินิกบริการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นที่รักษาและรับคำปรึกษาจากแผนกต่างๆ การใช้ไท้เก๊กเพื่อการรักษาในบริการตามแผนกต่างๆ บุคลากรในแผนกต่างๆ การใช้ไท้เก๊กเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชน/ข้าราชการ /ชมรมผู้สูงอายุ/อสม./สถานประกอบการ และการใช้ไท้เก๊กเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแก่บุคลากรในโรงพยาบาล/จนท. รพ.สต.

2. แผนงานฝึกอบรมไท้เก๊ก (Tai-Chi Training Center) แผนงานนี้ใช้หลักการฝึกแบบ Team-based learning เกิดเป็น CoPs (Community of Practices) ชุมชนนักปฏิบัติ โดยกระบวนการ KM ประกอบด้วย การฝึกอบรมเพื่อการรักษาพยาบาลแก่เจ้าหน้าที่และบุคลากร /ประชาชนและผู้สนใจ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ

3. แผนงานวิจัยไท้เก๊ก (Tai-Chi Research Center) เพื่อการวิจัยพัฒนาระบบการรักษาด้วยไท้เก๊กในโรงพยาบาล ระดับ รพ.ทั่วไป การรับรู้ต่อการรักษาด้วยไท้เก๊กในบุคลากร ในผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป เช่นผู้สูงอายุ รวมถึงการวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือในการรักษาที่เป็นนวัตกรรม

โดยสรุป แม้ว่าผลการศึกษาเพื่อวัดผลลัพธ์ในเชิงปริมาณไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ที่เหนือกว่าการเยี่ยมบ้านตามปกติได้ แต่ในการศึกษากลุ่มย่อยพบว่าการฝึกไท้เก๊กช่วยพัฒนาผู้ป่วยให้ดีขึ้นในเงื่อนไขของการมีผู้บำบัดด้วยศาสตร์ไท้เก๊กที่มีทักษะและศักยภาพสูง ความเข้มข้นของการฝึกที่มากและมีเวลาฝึกที่เพียงพอ รวมถึงศักยภาพของผู้ป่วยในการออกแบบท่าฝึกในการออกกาลังกายของตนเอง

และข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่าผู้ป่วยรายต่างๆ เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตทั้งในด้านการเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตประจำวัน ด้านจิตใจ และการเข้าสังคม เป็นต้น

ซึ่งผลจากการดำเนินงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีบุคลากรที่ให้ความสนใจเป็นทีม ทำให้เกิดศูนย์การแพทย์ไท้เก๊กที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชมีการดำเนินงานด้านการบริการรักษาและส่งเสริมสุขภาพด้วยไท้เก๊ก มีการจัดฝึกอบรมไท้เก๊ก รวมถึงแผนงานการวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการรักษาด้วยศาสตร์ไท้เก๊ก

เก็บความจาก

มงคล ศริวัฒน์ และคณะ. รายงานโครงการวิจัยไท้เก๊กเพื่อการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเรื้อรัง. สถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2558. 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง