ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกร รพ.สันทราย ถอดบทเรียนปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วย ชี้ต้องให้ความสำคัญในการรักษาอย่างครอบคลุม ชูรูปแบบการจ่ายยาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเห็นแพทย์

ภญ.ณภัทร อินทะจักร เภสัชกรโรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ในเวทีประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ “เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ว่า เภสัชกรที่เข้าช่วยเหลืองานจิตเวชในระบบการรักษาปฐมภูมิ จะต้องทราบถึงความเข้าใจของผู้ป่วยจิตเวช โดยหลักแล้วผู้ป่วยจิตเวชมักจะเป็นผู้ป่วยที่ถูกลืม โดยผลพวงของอาการเกิดได้จากความจน ความเจ็บปวด และความทนทุกข์ กระทั่งเมื่อป่วยเป็นโรคจิตเวชก็ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบ หรือที่เรียกว่าต้องทนทุกข์ทั้งครอบครัว

สำหรับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในส่วนของโรงพยาบาลสันทราย เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบ้านของผู้ป่วย แต่ในช่วงแรกที่ดำเนินการก็มักจะถูกต่อต้าน เพราะโดยหลักแล้วคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าตนเองมีอาการป่วยทางจิตเวช แต่ตามสถิติพบว่าคนไทย 1 ใน 5 คน จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต อีกทั้งการเข้าถึงการรักษาของโรคจิตเวชจะมีอัตราต่ำกว่าการรักษาโรคทางกาย

ภญ.ณภัทร กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จมีอยู่ 2 ด้านสำคัญ คือ

1.ด้านผู้ป่วย ที่ยังไม่เข้าใจต่อโรค รวมถึงการปฏิเสธการเจ็บป่วย กลัวตราบาป และขาดการรักษาต่อเนื่อง รวมถึงยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น ไม่ยอมรับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือปรับยาเอง

2.ด้านผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งมักจะพบว่าไม่มีเวลาเพราะต้องออกไปทำงาน หรือขาดทักษะในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ป่วย และคิดว่าเป็นภาระ

“แต่หลักการสำคัญคือการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในระดับปฐมภูมิ ซึ่งต้องเป็นการรักษาและดูแลต่อเนื่องในระดับชุมชน เพื่อลดอาการทางจิตกำเริบซ้ำ และจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นๆ ตามปกติ” ภญ.ณภัทร กล่าว

ภญ.ณภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทของเภสัชกรที่เข้ามาทำงานด้านจิตเวชเองนั้น จะต้องเห็นว่างานจิตเวชเป็นปัญหาที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และไม่ควรมองว่ามีความด้อยทางด้านวิชาการ แต่ต้องเพิ่มทักษะ ค้นคว้าหาข้อมูล หาที่เรียนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเป็นมืออาชีพ

ภญ.ณภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับระบบการใช้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้น ในส่วนของโรงพยาบาลสันทรายเองได้กำหนดเป็นแบบแผนที่ชัดเจน โดยแยกเป็น

1.กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยที่จะรับยาจาก รพ.สต.

2.เบิกยาตาม OPD card เป็นรายกรณีโดยเภสัชกร

3.จัดยาและนัดการจ่ายยาโดยนัดผู้ป่วยมาพบแพทย์ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินจากแพทย์ และเภสัชกรทุกๆ ราย

และ 4.ผู้ป่วยที่ต้องไปนำยาไปจ่ายให้ที่บ้าน เภสัชกรจะลงเยี่ยมและปรึกษากับแพทย์ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการแย่ลง หรือพบในกรณีที่ต้องปรับยาตามความเห็นของแพทย์ที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านด้วยเช่นกัน

“ทำไมเราต้องรักษา และให้ความสำคัญกับอาการป่วยทางจิตเวช ก็เป็นเพราะคนไทยกว่า 12 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งหากละเลยเราก็จะได้เห็นข่าวความรุนแรงเป็นประจำ ดังนั้น การดูแลจึงต้องครอบคลุมทุกระบบ ทั้งโรงพยาบาล รพ.สต. ชุมชน และครอบครัว อีกทั้งการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทำเองไม่ได้ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเพื่อหาหนทางในการักษาอย่างถูกต้อง” ภญ.ณภัทร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง