ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยแนะสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ดึงสถานศึกษา-ภาคธุรกิจร่วมต่อยอดจากสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา ชี้ภาครัฐควรบรรจุเป็นนโยบายสาธารณะ พร้อมขยายตลาดรับฐานลูกค้าสูงวัยกว่า 10 ล้านคน

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังถึงร้อยละ 10 จากประชากรสูงอายุ 10.3 ล้านคน และยิ่งน่าเป็นกังวลมากขึ้นเมื่อพบว่าอัตราการเสียชีวิตโดยพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 เป็น 9.22 ระหว่างปี 2551-2556 และบาดเจ็บภายในบ้านราวร้อยละ 55.17 ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงแม้ว่าลูกหลานจะคอยดูและอย่างใกล้ชิดก็ตาม

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้และปลอดภัยจากอุบัติเหตุยามเมื่อต้องอยู่ลำพัง “การสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย” อาจเป็นคำตอบที่ดีในเรื่องนี้

การประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 27เมษายน 2560 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์นวัตกรรมเครื่องช่วยผู้สูงอายุ ประเทศไทยเราตื่นตัวต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุมากจนถึงระดับสถานศึกษาเห็นตัวอย่างได้จากผลงานของนักเรียนระดับอาชีวะและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลการันตรีคุณภาพอย่างมากมายและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“อุปกรณหลายชิ้นที่เป็นผลงานของนักศึกษานั้นน่าสนใจอย่างมาก เช่น ไม้เท้าช่วยพยุง และบางชิ้นก็ราคาไม่แพง เช่น เก้าอี้ไม้พับได้ ขณะที่บางชิ้นได้เริ่มทดลองใช้แล้วในโรงพยาบาล เช่น อุปกรณ์ช่วยกันล้มบริเวณข้างเตียง” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว

รศ.ไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า ผลงานของนักศึกษานั้นเป็นต้นทุนที่ดีอย่างยิ่งที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดในทางธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งจากการพิจารณาเบื้องต้นจากจำนวนผลงานทั้งหมดสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มนวัตกรรม

1.หมวดการใช้งานในชีวิตประจำวัน

2.การใช้ในการศึกษา

3.การใช้ในการทำงาน

4.การเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการจะนำไปใช้ได้จริงและสร้างมูลค่าเพิ่มนั้นยังต่ออาศัยปัจจัยสนับสนุนอีกมากโดยเฉพาะการดึงภาคธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนร่วม เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้สินค้าราคาถูก หรือการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน

ดึงชุมชนร่วมสร้างเอกลักษณ์ทางนวัตกรรม

แม้จะมีผลงานสร้างสรรค์จากสถาบันการศึกษาเป็นต้นทุนที่ดีในการนำไปพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประชาสัมพันธ์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง หรือเกิดการนำไปปรับใช้ให้เข้ากับท้องถิ่น โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน

นางอุบล หลิมสกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงตัวอย่างการสื่อสารเรื่องนวัติกรรมให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างด้วยการยกตัวอย่างกรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่นว่า ภาครัฐเป็นส่วนที่มีบทบาทหลักในการเข้ามาสนับสนุนให้ท้องถิ่นสร้างหรือนำนวัตกรรมจากส่วนกลางมาต่อยอด ประยุกต์เข้ากับวัสดุในท้องถิ่น หรือปรับรูปลักษณ์ให้มีลักษณะเฉพาะเป็นที่จดจำ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนในท้องถิ่นร่วมกันสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

“ที่ประเทศญี่ปุ่นทุกปีจะมีศูนย์การแสดงเพื่อ สาธิตให้ ให้ชาวบ้าน ผู้คนในต่างจังหวัดเห็นว่า การปรับเปลี่ยนบ้านตามบริบทที่หลากหลายเป็นอย่างไร แล้วทำออกมาได้น่าสนใจ ซึ่งควรทำให้ได้ เพราะนวัตกรรมไม่ว่าจะคิดมาดีแค่ไหน แต่หากไม่สามารถเผยแพร่ให้คนเข้าใจ เห็นประโยชน์มันก็ไร้ความหมาย สิ่งที่มีอยู่ ค้นพบแล้วก็ให้เผยแพร่ออกไป”

แนะรัฐดันเข้านโยบายสาธารณะ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

การสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างหักประกันรองรับกับสังคมสูงวัยของไทย อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์ของเยวชนในสถานศึกษา มากไปกว่านั้นเมื่อมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ยังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและคาดว่าจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดตามจำนวนลูกค้าที่ปัจจุบันมีมากถึง 10 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 14 ล้านคนในราว 10 ปีข้างหน้า

ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสร้างโอกาสในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจว่า รัฐบาลควรพลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นนโยบายสาธารณะ ทำการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่าปัจจุบันตลาดสินค้าและบริการของผู้สูงอายุมีสัดส่วนเท่าไร และสามารถเติบโตได้อีกกี่เท่า รวมถึงศึกษาและพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมเพื่อลดการนำเข้าอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุในภูมิภาคอีกด้วย

“ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าที่สนใจเข้ามาในตลาดผู้สูงอายุ หากภาครัฐให้การสนับสนุนการศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกระตุ้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศให้ยั่งยืนอีกด้วย” ศ.วรเวศม์กล่าว

สอดคล้องกับสอดคล้องกับนางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะสังคมสูงวัยกล่าวถึงประโยชน์ของการดึงเยาวชนและสถานศึกษาเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัยว่า นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในสังคมแล้วนั้น อีกด้านหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวหันมาสนใจและเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนเพื่อการเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้าไปในตัวด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง