ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ร้านชำใน ต.หาดสองแคว จ.อุตรดิตถ์ 80% ขายยาไม่เหมาะสม “เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค” ลงพื้นที่ให้ความรู้เข้มข้น ผนึกกำลังฝ่ายปกครอง แก้ปัญหาได้เกือบ 100%

ภญ.จิราวรรณ แสงรัศมี วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย นำเสนอผลงานเรื่องการจัดการปัญหาร้านชำจำหน่ายยาไม่เหมาะสม ใน อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ภายใต้การประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ “เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า แนวโน้มการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาในร้านชำเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลปี 2556-2558 พบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ 17 ครั้ง 28 ครั้ง และ 34 ครั้ง ตามลำดับ ที่สำคัญคือยาเหล่านั้นเป็นยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านแต่กลับจำหน่ายอยู่ตามร้านชำได้

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์จากยาในร้านชำที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาการผื่น (RASH) 2.ลมพิษ (Urticaria) 3.อาการบวม ทั้งตัว หลังเท้า ริมฝีปาก ตา หน้า 4.ผื่นแพ้ยาชนิด Fixed drug eruption 5.อาการแพ้รุนแรงเฉียบพลันและช็อก ส่วนกลุ่มยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์บ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มยา Tetracycline 2.กลุ่มยา Penicillin V 3.กลุ่มยาAspirin 4.กลุ่มยา Ibuprofen 5.กลุ่มยาซัลฟา

ภญ.จิราวรรณ กล่าวว่า ปัญหาร้านชำจำหน่ายยาที่ไม่เหมาะสมนับเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยหลายภาคส่วนใน อ.ตรอน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฯลฯ เห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญ แต่การดำเนินการที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด เช่น ความล่าช้า จึงนำมาสู่โครงการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ปี 2559 ที่ต้องการดึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา

สำหรับโครงการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ปี 2559 จะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและภาคีเครือข่ายเป็นสำคัญ โดยมีกุญแจสำคัญคือความยืดหยุ่น มีการจัดทำสื่อที่เข้าใจง่ายและประสานงานอย่างคล่องตัวทั้งแนวราบและแนวดิ่ง รวมทั้งให้น้ำหนักกับความต่อเนื่องในระดับนโยบาย คือผลักดันเป็นนโยบายระดับอำเภอครอบคลุมทุกตำบล

"เราได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการจำหน่ายยาไม่เหมาะสมแต่ละตำบล พบว่าที่ตำบลหาดสองแควมีร้านชำทั้งสิ้น 30 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นร้านชำที่มียำไม่เหมาะสมถึง 24 แห่ง หรือคิดเป็น 80% จึงใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ" ภญ.จิราวรรณ กล่าว

ภญ.จิราวรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อได้พื้นที่นำร่องแล้ว ทางภาคีเครือข่ายได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเฝ้าระวังและให้คำแนะนำร้านค้า ซึ่งก็พบว่ามีหลายร้านไม่ให้ความสนใจ รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นไม่อยากไปก้าวล่วงร้านชำเพราะกลัวมีปัญหาจนเสียคะแนนเสียง แต่ทางเครือข่ายก็ระดมให้ความรู้และลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

"ข้อเสียของการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคก็คือการทำงานไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นจึงใช้วิธีลงพื้นที่จัดประชุมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นผู้จัดทำมาตรการหรือข้อเสนอในการแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้แนวทางหลายอย่าง เช่น ต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค มีการรณรงค์ในพื้นที่บ่อยๆ จัดตั้งแกนนำในรูปแบบคณะกรรมการตำบล สุ่มตรวจคุณภาพยาบ่อยๆ เป็นต้น" ภญ.จิราวรรณ กล่าว

ภญ.จิราวรรณ กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่ายฯ ได้นำข้อเสนอต่างๆ มาสังเคราะห์และผลักดันให้จัดทำเป็นนโยบาย จนกระทั่งมีคำสั่งอำเภอตรอนแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการ คณะทำงานระดับอำเภอ และคณะทำงานระดับตำบล โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ยาและบริการสุขภาพ ซึ่งแต่ละคณะกรรมการก็จะมีอำนาจหน้าที่และรูปแบบกิจกรรมแตกต่างออกไป เช่น วางแผนร่วมกับพนักงานปกครอง ตำรวจ ทหาร นายอำเภอ ปรับปรุงสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจง่ายขึ้น

"ผลการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องอำเภอตรอน พบว่ามีการจำหน่ายยาไม่เหมาะสมลดลง 23 แห่ง จากทั้งหมด 64 แห่ง คิดเป็น 35.94% เฉพาะที่ตำบลหาดสองแควจำหน่ายยาไม่เหมาะสมลดลงถึง 20 แห่ง จากทั้งหมด24 แห่ง คิดเป็น 88.33%"ภญ.จิราวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการสามารถสรุปบทเรียนเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายได้ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนระดับอำเภอ จะต้องเสนอต่อนายอำเภอเพื่อขายไปยังตำบลอื่นๆ 2.การขับเคลื่อนระดับจังหวัด ต้องเสนอต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการจัดการร้านชำไปสู่อำเภออื่นๆ ใน จ.อุตรดิตถ์ 3.การขับเคลื่อนระดับเขต ต้องเสนอต่อสาธารณสุขนิเทศเขตบริการสุขภาพที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนการจัดการให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง