ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ Medscape.com เผยแพร่บทความยา 11 รายการที่ควรพิจารณาการใช้ยาอย่างจริงจัง

การใช้ยาร่วมหลายขนาน (polypharmacy) หมายถึงการใช้ยาอย่างน้อยวันละ 5 ตัว ข้อมูลจากการสำรวจชี้ว่ากว่าครึ่งของผู้ป่วยหญิงในบริการเมดิแคร์ของสหรัฐอเมริการับประทานยาร่วมกันอย่างน้อย 5 ตัว และร้อยละ 12 รับประทานยาร่วมกันยาอย่างน้อย 10 ตัว การลดปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับจะส่งผลดีต่อการลดอัตราการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและผลข้างเคียงจากยา

1.ยาช่วยให้อุจจาระนิ่ม

ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่ายา docusate ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวลงหรือป้องกันท้องผูก ข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบในผู้ใหญ่ท้องผูกเรื้อรัง 170 คนซึ่งได้รับ psyllium 5.1 กรัมหรือ docusate 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งพบว่า psyllium มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีกว่าทั้งในแง่จำนวนครั้งการขับถ่าย ปริมาณน้ำในอุจจาระ ปริมาณอุจจาระทั้งหมด ตลอดจนตัวบ่งชี้ของอาการท้องผูก เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จุดเริ่มต้นพบว่า psyllium เพิ่มปริมาณน้ำในอุจจาระได้ร้อยละ 2.33 เทียบกับร้อยละ 0.1 จาก docusate (P=.007) นอกจากนี้น้ำหนักอุจจาระยังเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับ psyllium (359.9 กรัมต่อสัปดาห์เทียบกับ 271.9 กรัมต่อสัปดาห์จากผู้ป่วยที่ได้รับ docusate; P=.005)

2.ยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาฟัน

แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาเชิงป้องกันด้วยยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบปี 2540 แนะนำให้แพทย์ลดการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเชิงป้องกันก่อนการรักษาฟัน แต่ถึงกระนั้นผู้ป่วยจำนวนมากยังคงได้รับยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาฟันด้วยเหตุผลว่าผู้ป่วยใส่ข้อเทียมทั้งที่ไม่มีหลักฐานรองรับเวชปฏิบัติดังกล่าว สภาศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์อเมริกันและสมาคมทันตกรรมอเมริกันก็ไม่แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาฟันดังกล่าว

อย่างไรก็ดีคำแนะนำนี้อาจไม่ครอบคลุมถึงผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และการพิจารณาให้ยาล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยทำฟันที่ซับซ้อน และการคัดเลือกสูตรยาที่เหมาะสมควรพิจารณาเป็นรายกรณี

3.ยากลุ่ม proton pump inhibitors

ผลข้างเคียงจากยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) ยังรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมลดลง (ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อกระดูกหัก) รวมถึงปัญหาการดูดซึมวิตามินบี 12 และฮอร์โมนไทรอยด์ ไตวายฉับพลันและเรื้อรัง ความเสี่ยงการติดเชื้อ Clostridium difficile รวมถึงอัตราตายที่อาจสูงขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับ PPIs ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจจำเป็นต้องได้รับ PPIs ในระยะยาว (เช่น ผู้ป่วยกรดไหลย้อน โรคหนังแข็งจากกรดไหลย้อน ผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แพทย์อาจพิจารณาหยุดยา PPIs ในผู้ป่วยที่ไม่จำเป็น เช่นในรายที่ได้รับ PPIs เพื่อป้องกันแผลในทางเดินอาหารจากภาวะเครียดระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลซึ่งสามารถหยุดยาภายหลังออกจากโรงพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัจจุบันยังไม่อาจสรุปว่า PPIs มีประโยชน์ชัดเจนหรือไม่เมื่อเทียบกับอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ยา โดยมีข้อมูลจากการศึกษาทบทวนรายงานว่า PPIs อาจทำให้มีอาการของโรคทางเดินอาหารรุนแรงขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจส่งผลดีต่อการลดจำนวนยาที่ผู้ป่วยได้รับ

4.Statin สำหรับการป้องกันปฐมภูมิ

การใช้ยา statin สำหรับการป้องกันปฐมภูมิเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่สมาคมหัวใจอเมริกันออกแนวทางเวชปฏิบัติการใช้ statin เมื่อปี 2556 อย่างไรก็ดียังคงมีข้อกังขาถึงประโยชน์ของ statin สำหรับการป้องกันปฐมภูมิในผู้ป่วยอายุมากกว่า 75 ปีเนื่องจากยา statin อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อและอาจทำปฏิกิริยากับยาหลายตัวและทำให้มีผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ

นอกจากนี้พบว่าประโยชน์ที่ได้รับจาก statin สำหรับการป้องกันทุติยภูมิ (ภายหลังเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือสโตรก) ยังคงแตกต่างจากผลลัพธ์จากการป้องกันปฐมภูมิ และยังมีประเด็นเรื่องความคุ้มค่าของ statin เทียบระหว่างความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับสำหรับการป้องกันปฐมภูมิในผู้ป่วยอายุมากกว่า 80 ปี

5.ยา benzodiazepines/Z drugs

ยา benzodiazepines และ zolpidem สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการหกล้ม แพทย์มักพิจารณาการรักษาด้วยยาสำหรับอาการนอนไม่หลับซึ่งพบมากในผู้ป่วยสูงอายุ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ benzodiazepines และยากลุ่ม Z drugs เช่น zolpidem, zaleplon และ eszopiclone ติดต่อกันในระยะยาวเนื่องจากความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เห็นชัดเจนในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมากมักได้รับยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) และอาจได้รับ benzodiazepine เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับจากยา SSRI ซึ่งยาทั้งสามกลุ่มนี้ (benzodiazepines, SSRIs และ Z drugs) ส่งผลให้มีความเสี่ยงการหกล้มสูงขึ้น

6.ยา beta-blockers

แนวทางเวชปฏิบัติปี 2554 โดยสมาคมหัวใจอเมริกันและสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกันแนะนำการใช้ยากลุ่ม beta-blockers เป็นเวลา 3 ปีภายหลังเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction, MI) หรือกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute coronary syndrome, ACS) ในผู้ป่วยทุกรายที่ยังคงมีการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายเป็นปกติ (class I recommendation, grade B evidence) โดยแนะนำว่าควรให้ beta-blocker ต่อภายหลัง 3 ปีในผู้ป่วยที่มีประวัติ MI หรือ ACS (class IIa) แต่ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในระยะหลังไม่พบว่าการใช้ beta-blocker ต่อเนื่องส่งผลดีต่ออัตราการเสียชีวิตในระยะยาว และทำให้เกิดความกังขาถึงประโยชน์จากการใช้ beta-blockers ภายหลัง MI หรือ ACS ในยุคปัจจุบันซึ่งมีการรักษาเปิดหลอดเลือดหัวใจแพร่หลาย

7.ยาโรคหืด/COPD

ผู้ป่วยหายใจขัดส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคหืดหรือภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease, COPD) ซึ่งแพทย์มักพิจารณาเพิ่มยาหรือเพิ่มขนาดยาหากอาการไม่ทุเลาลง ข้อมูลจากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้รายงานว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหืดมีการหายใจเป็นปกติและสามารถลดยาได้ ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยหลายโครงการรายงานอัตราที่สูงของการวินิจฉัยโรคหืดผิดพลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการวินิจฉัยโดยไม่ได้ประเมินร่วมกับผลตรวจสมรรถภาพปอด ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงอาจพิจารณาลดยาบางตัวสำหรับผู้ป่วยโรคหืดและ COPD โดยเฉพาะในรายที่วินิจฉัยผิดพลาดหรือไม่มีการกำเริบของโรค

8.ยา antimuscarinics สำหรับอาการปัสสาวะเล็ด

ยากลุ่ม antimuscarinics (darifenacin, fesoterodine, oxybutynin, solifenacin, tolterodine และ trospium) ใช้กันแพร่หลายสำหรับรักษาอาการปัสสาวะเล็ดทั้งที่มีประโยชน์เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยาดังกล่าวยังมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ ดังที่มีข้อมูลสถิติรายงานว่ายา oxybutynin สามารถรักษาอาการปัสสาวะเล็ดได้ 114 รายจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา 1,000 ราย แต่พบด้วยว่ามีผู้ป่วยหยุดการรักษาเนื่องจากผลข้างเคียง 63 รายจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา 1,000 ราย

9.ยา cholinesterase inhibitors สำหรับโรคอัลไซเมอร์

ยากลุ่มนี้เป็นหนึ่งในยาที่มีประโยชน์ในการรักษาไม่มากนักแต่กลับมีผลข้างเคียงที่เด่นชัด การรักษาด้วยยา donepezil (ยา cholinesterase inhibitors ที่สั่งจ่ายแพร่หลายที่สุด) ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องรักษาจนกว่าการรักษาจะเห็นผลที่สูงถึง 12 ราย ซึ่งหมายความว่าการรักษาจะเห็นผลเมื่อรักษาไปแล้ว 12 รายและจะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวที่ได้รับประโยชน์จากการรักษาขณะที่อีก 11 รายจะไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษาแต่อย่างใด ยากลุ่มนี้ยังเป็นสาเหตุของอาการข้างเคียงต่างๆ ทั้งคลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นลม และปัสสาวะเล็ด โดยผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับยา antimuscarinic เพื่อรักษาอาการปัสสาวะเล็ดอันเป็นผลจากยา cholinesterase inhibitors ที่ได้รับ

10.ยาคลายกล้ามเนื้อสำหรับอาการปวดหลัง

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างทั้งกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรัง ยากลุ่มนี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการและมักเป็นอันตรายโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ และความเป็นพิษของยาจะเพิ่มสูงขึ้นหากได้รับแอลกอฮอล์

11.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผู้ป่วยจำนวนมากรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยา การรับประทานวิตามินรวมกลายเป็นเรื่องปกติทั้งที่ยังไม่เคยมีหลักฐานว่าป้องกันโรคหัวใจหรือมะเร็ง ขณะที่ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมก็มีแนวโน้มว่าจะไม่มีประโยชน์ในหญิงวัยทอง ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบ่งชี้ว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมและวิตามินดีทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงกระดูกหัก และพบด้วยว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมและวิตามินดีสัมพันธ์กับอัตราการพบนิ่วในไตที่สูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมมีผลยับยั้งการดูดซึมฮอร์โมนไทรอยด์

แปลจาก 11 Drugs You Should Seriously Consider Deprescribing : Medscape.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง