ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นกแอร์อีกแล้ว!! พิธีกรสาวช่อง 11 ขอพนักงานช่วยยกวีลแชร์ขึ้นบันไดเครื่องบินแต่ถูกปฏิเสธ อ้างเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร แถมยังบอกว่า “ถ้าจะขึ้นก็ให้ญาติอุ้มขึ้นไป มีญาติมาตั้งเยอะทำไมไม่ช่วยกัน”

น.ส.ปนัดดา ประสิทธิเมกุล

น.ส.ปนัดดา ประสิทธิเมกุล พิธีกรรายการเคียงบ่าเคียงไหล่ ช่อง NBT หนึ่งในผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เปิดเผยว่า ได้รับการปฏิบัติที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกกีดกันการเข้าถึงบริการสาธารณะและถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 ตนได้เดินทางจาก กทม.ไป จ.ระนอง ด้วยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD7312 โดยขณะที่ไปเช็คอินนั้น ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ว่าขอคนช่วยยกตนและรถวีลแชร์ขึ้นเครื่องแต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีคนช่วย พร้อมยกเหตุผลว่ากลัวจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความปลอดภัยและเป็นกฎที่จะไม่แตะต้องตัวผู้โดยสาร

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์เช็คอินยังพูดด้วยว่าถ้าจะขึ้นก็ให้ญาติอุ้มขึ้นไป มีญาติมาตั้งเยอะทำไมไม่ช่วยกัน

“เราก็บอกว่าจะเอารถเข็นขึ้น ขอเจ้าหน้าที่ช่วยยกได้ไหม เขาก็บอกว่ามันเป็นกฎของเขา เขาจะไม่แตะต้องตัว เป็นความปลอดภัยอะไรประมาณนี้ แต่ถ้าขึ้นก็ให้ญาติอุ้มขึ้นไปสิ เขาพูดอย่างนี้เลย ก็มีญาติมาตั้งเยอะทำไมไม่ช่วยกัน พูดอย่างนี้เลย คือพูดจาไม่ดี บอกเลยว่าเจ้าหน้าที่นกแอร์พูดจาไม่ดี” น.ส.ปนัดดา กล่าว

น.ส.ปนัดดา กล่าวว่า กรณีลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อเดินทางกับสายการบินนกแอร์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็เคยเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ที่สนามบิน จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนั้นมาถึงบันไดขึ้นเครื่องบินแล้ว ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยยกขึ้นเครื่อง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ช่วย ได้แต่ยืนดู แต่ตอนนั้นตนเดินทางไปพร้อมกับทีมงานรายการ จึงให้ทีมงานช่วยยกให้

“เจอบ่อยครั้งมากกับนกแอร์ เราก็ไม่ได้ทุลักทุเลขนาดนั้น เราแค่จะเอารถเข็นขึ้นเครื่อง เขาก็บอกว่าไม่ให้เอารถเข็นขึ้น ให้อุ้มขึ้น เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้อง เดี๋ยวเราดูแลตัวเอง คือเช็คอินอยู่ตั้งนานแล้วเขาก็ไม่จัดการ บอกว่าขึ้นเครื่องไม่ได้ เขาไม่ดูแลความปลอดภัยให้นะอะไรประมาณนี้” น.ส.ปนัดดา กล่าว

นอกจากนี้ ตนยังเคยถูกเจ้าหน้าที่เข็นรถวีลแชร์แต่เกิดผิดพลาดจนหัวกระแทกพื้น ซึ่งซีอีโอของนกแอร์ในขณะนั้นได้โทรมาขอโทษและจะให้ตั๋วฟรี แต่ตนบอกว่าไม่เอา ขอแค่ปรับปรุงการให้บริการเพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเจอปัญหาแบบเดียวกับตนอีก ทางซีอีโอก็รับปากว่าจะกลับไปปรับปรุงแต่ผ่านมา 2 ปีก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

น.ส.ปนัดดา กล่าวอีกว่า การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นการโดยสารสาธารณะ คนทุกกลุ่มต้องเข้าถึงได้ ขณะที่นกแอร์เป็นสายการบินของประเทศ เป็นลูกของการบินไทย แต่กลับไม่ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ไม่ทำความเข้าใจคนพิการ และใช้วิธีการผลักภาระไปที่คนพิการแทน เทียบกับสายการบินแอร์เอเชีย เมื่อก่อนก็ไม่มีความเข้าใจในเรื่องคนพิการ แต่ก็เปิดใจรับ มีการเชิญองค์กรคนพิการเข้าไปอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติและดูแลคนพิการในการเดินทาง หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์และการบินไทยก็จะมีเครื่องมือไว้ช่วยยกรถวีลแชร์ขึ้นเครื่องกรณีไม่ได้เดินเข้างวง และดูแลผู้พิการเป็นกลุ่มพิเศษเพื่อให้เข้าถึงการเดินทางได้ แต่นกแอร์ให้คนพิการจัดการตัวเอง โยนภาระให้อย่างเดียว ถ้าไม่สามารถก็ไม่ต้องไป ไม่ต้องเดินทาง เป็นนโยบายที่ค่อนข้างกีดกันคนพิการในการโดยสารทางอากาศ

“เขาจะใช้คำๆ หนึ่งว่าเพื่อความปลอดภัย คือสมมุติว่าคุณเห็นว่าเราจะต้องขึ้นเครื่อง แล้วคุณมองว่าเพื่อความปลอดภัยฉันไม่ช่วยคุณเดี๋ยวคุณจะไม่ปลอดภัยนะ มันใช่เหรอ แล้วโลว์คอสแอร์ไลน์เป็นสายการบินต้นทุนต่ำซึ่งพอต้นทุนต่ำก็เลยมองว่าไม่มีเรื่องพวกนี้มารองรับหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือหรือ แต่สายการบินต้นทุนต่ำอย่างแอร์เอเชียก็ยังมีมาดูแล มาช่วยคนพิการ ดังนั้นอยู่ดีๆ คุณบอกว่าคุณเป็นสายการบินต้นทุนต่ำคุณก็เลยไม่ทำ มันก็ไม่ใช่อีก” น.ส.ปนัดดา กล่าว

น.ส.ปนัดดา กล่าวทิ้งท้ายว่า การถูกปฏิบัติเช่นนี้เหมือนถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ คนพิการคนหนึ่งกว่าจะมีความกล้าออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเพื่อจะไม่เป็นภาระกับใคร ใจเขาต้องสู้มากๆ และนอกจากใจแล้วก็ต้องมีเรื่องของกายคือการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถเดินทางไปทำงานหรือไปไหนก็ได้ สายการบินไม่ควรเป็นหน่วยงานที่ปิดกั้นไม่ให้คนพิการแสดงศักยภาพ

“ทำไมไม่มองว่าคนกลุ่มนี้เขาต้องออกมาใช้ชีวิตเขาจะได้ไม่เป็นภาระกับใคร คุณต้องทำความเข้าใจในการให้บริการกับคนทุกกลุ่มที่เป็นลูกค้าคุณ” น.ส.ปนัดดา กล่าว

ทั้งนี้ สายการบินนกแอร์เพิ่งถูก น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเลขาธิการองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (DPIAP) และนายศุภวัฒน์ เสมอภาค เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและสมาชิกภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากถูกปฏิเสธการให้บริการจากสายการบินด้วยเหตุแห่งความพิการ

การถูกปฏิบัติเช่นนี้เหมือนถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ คนพิการคนหนึ่งกว่าจะมีความกล้าออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเพื่อจะไม่เป็นภาระกับใคร ใจเขาต้องสู้มากๆ และนอกจากใจแล้วก็ต้องมีเรื่องของกายคือการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถเดินทางไปทำงานหรือไปไหนก็ได้ สายการบินไม่ควรเป็นหน่วยงานที่ปิดกั้นไม่ให้คนพิการแสดงศักยภาพ

 

น.ส.ปนัดดา ประสิทธิเมกุล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง