ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกรหญิง รพ.ลำปาง คว้ารางวัล “เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี 2560” ผู้บุกเบิกงานเภสัชกรรมชุมชน ดูแลผู้ป่วยได้รับยาอย่างปลอดภัยและเหมาะสม ขณะที่ “ทีมเภสัชกร สปสช.” คว้ารางวัล “ทีมเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี 2560” จากผลงานดีเด่นต่อเนื่อง พัฒนาระบบยาช่วยผู้ป่วยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง

ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานกรรมการมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม เป็นประธานพิธีมอบรางวัล “เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม” ครั้งที่ 9 และ “ทีมเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2560 จัดโดยจัดโดยมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ศูนย์พัฒนาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) และชมรมเภสัชชนบท

ในปีนี้ “ภญ.รุ่งทิวา หมื่นปา” เป็นผู้ได้มอบรับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2560 และ “ทีมเภสัชกร สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” รับมอบมอบรางวัลทีมเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2560

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี กล่าวว่า การมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อส่งเสริมการทำวิสัยทัศน์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์, วิชาชีพเภสัชกรรม, ระบบยา และระบบสุขภาพ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ การสนับสนุนความคิดริเริ่มและสรรสร้างเภสัชกรให้มีบทบาทหน้าที่พัฒนาสุขภาพ สังคม การบริหารจัดการะบบยา ระบบสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ทั้งยังเป็นขวัญกำลังใจและเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นแบบอย่างความภาคภูมิใจและแรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพตามบทบาทอำนาจหน้าที่ของเภสัชกรทุกสาขาและนิสิตเภสัชศาสตร์ต่อไป

ภญ.รุ่งทิวา หมื่นปา (ซ้าย) และ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี (ขวา)

ภญ.รุ่งทิวา หมื่นปา หัวหน้างานบริบาลเภสัชกรรม รพ.ลำปาง เป็นผู้มีความรู้และความภาคภูมิใจในวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นอย่างยิ่ง มุ่งมั่น ทุ่มเททำงานอย่างหนัก ในบทบาทงานบริบาลเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็นเวลา 29 ปีแล้ว เริ่มจากการเป็นเภสัชกรคนเดียวใน รพ.สบปราบ จ.ลำปาง พ.ศ. 2531-2533 แล้วย้ายไปเป็นหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน รพ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ต่อมาจึงได้ย้ายไปอยู่ รพ.ลำปาง เป็นหัวหน้างานบริบาลเภสัชกรรม หัวหน้างานบริบาลผู้ป่วยใน หัวหน้างานพัฒนาระบบทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมงานวิจัย หัวหน้างานบริบาลเภสัชกรรม รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ด้านงานวิจัยและนวัตกรรม และกรรมการสภาเภสัชกรรม 3 สมัย

นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมผ่านกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท รณรงค์ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเรื่องยาอย่างปลอดภัย และเป็นผู้มีส่วนพัฒนาบทบาทเภสัชกรในชนบท บุกเบิกงานเภสัชกรรมชุมชน และงานเภสัชกรรมคลินิก ทั้งยังอุทิศตนทำงานให้สภาเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิอย่างเป็นระบบ จากผลการทำงานที่ผ่านมาจึงได้รับการยอมรับทั้งในระดับจังหวัดและในระดับชาติ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการชุดต่างๆ อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล คณะทำงานพัฒนระบบบริการงานเภสัชกรรมปฐมภูมิเป็นต้น

ส่วน “ทีมเภสัชกร สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช.” นับเป็นทีมงานเภสัชกรที่ร่วมมือทำงานอย่างดีด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น ยึดหลักการและแนวคิดการทำงานเพื่อสังคม คือ ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล เพื่อปกป้องไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากโรคค่าใช้จ่ายสูง โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายภาควิชาการและประชาสังคม จนปรากฎผลงานเชิงประจักษ์ อาทิ การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการประกาศซีแอล, การบริหารระบบการจัดซื้อยารวมระดับประเทศ ได้แก่ ยาซีแอล 7 รายการ และยาบัญชี จ.2 วัคซีน ยากำพร้า ยาต้านพิษ ยาต้านไวรัสเอส์ และน้ำยาล้างไต 121 รายการ, พัฒนาระบบการจัดหาและการกระจายวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยระบบลูกโซ่ความเย็นและสามารถลดอัตราการสูญเสียวัคซีน, การพัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ เป็นต้น

สำหรับทีมเภสัชกร สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. ที่รับมองรางวัลในครั้งนี้ ได้แก่ ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์, ภก.ธนพัฒน์ เลาวหุตานนท์, ภญ.สมฤทัย สุพรรณกูล, ภก.ไตรเทพ ฟองทอง, ภก.กฤชชัย พัฒนจันทร์ และ ภญ.สุภานันท์ อินแผลง รวมทั้งทีมเภสัชกรรม สปสช.ที่ได้ร่วมปฏิบัตงานก่อนหน้านี้ ได้แก่ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช, ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ, ภญ.ปนัดดา ลี่สถาพรวงศา และ ภญ.ดวงทิพย์ หงษ์สมุทร นอกจากนี้ยังรวมถึงเภสัชกรที่ได้ร่วมปฏิบัตงานตาม สปสช.สาขาพื้นที่ทั่วประเทศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง