ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

TDRI ชี้ทางออกสังคมผู้สูงอายุ เสนอจัดตั้ง “กองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” เก็บเบี้ยประกันประชากรวัยทำงาน เริ่มปีละ 500 บาท และปรับเพิ่ม 500 บาททุก 5 ปี หนุนเป็นค่าใช้จ่ายวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ขณะที่ครอบครัวและท้องถิ่น ร่วมจ่ายค่าจ้างผู้ดูแล มอบ สปสช.บริหารกองทุน เชื่อได้รับการตอบรับ เป็นการจ่ายเพื่ออนาคต ซื้อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ – เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเวทีเสวนา “สานฝัน สร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนถ้วนหน้า ในงาน “งานกับอุดมคติของชีวิต” ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยมีข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ว่า เมื่อดูค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่รัอยละ 4 ของจีดีพีประเทศ และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อดูรายจ่ายสุขภาพพบว่าเราไม่ได้ฟุ่มเฟือย แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้รายจ่ายสุขภาพประเทศเพิ่มขึ้นคือโครงสร้างประชากรประเทศที่เป็นจากผลนโยบายวางแผนครอบครัวในอดีต ทำให้ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งใน 20 ปีข้างหน้าจะขยับขึ้นไปอยู่ร้อยละ 30 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17 ของประชากรประเทศ

ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยในกระทรวงสาธารณสุข พบว่า 5 โรคเรื้อรังหลักของคนไทย ได้แก่ มะเร็ง, เบาหวาน, ความดันโลหิต, โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจ มีส่วนอย่างมากในการใช้ทรัพยากรโรงพยาบาล หรือร้อยละ 20 และเมื่อดูการใช้ทรัพยากรผู้ป่วยในตามกลุ่มอายุภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในมากกว่าร้อยละ 50 ใช้กับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นั่นคือโรคเรื้อรัง

จากข้อมูลข้างต้นเมื่อมองภาพระบบการรักษาพยาบาลในอนาคต ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาจัดการปัญหาได้หรือไม่ แม้ว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะเป็นแนวทางหนึ่ง แต่สามารถลดได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ทางเลือกหนึ่งคือ “การมีระบบประกันดูแลระยะยาว” เน้นการดูแลที่บ้านแทนที่จะให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุมาใช้ทรัพยากรที่โรงพยาบาล แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะมีการดำเนินงานอยู่ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรค ทั้งข้อจำกัดของระเบียบงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจึงน่าจะมีแนวทางใหม่ในการจัดการ อย่างการจัดตั้ง “กองทุนระยะยาวเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง”

ทั้งนี้งบประมาณกองทุนฯ ร้อยละ 25 มาจากการจ่ายสมทบของประชาชนวัยทำงานอายุ 40-65 ปี เพื่อนำมาสนับสนุนในส่วนค่าวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ส่วนร้อยละ 37.5 มาจากท้องถิ่น และร้อยละ 37.5 มาจากการร่วมจ่ายของผู้รับบริการ หรือครอบครัวของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพื่อนำมาเป็นค่าจ้างผู้ดูแล มีการจัดระบบการดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลระบบดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) พร้อมกันนี้ยังดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วม ซึ่งกองทุนฯ นี้ดูแลเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ได้รับการประเมินโดยแพทย์

“ในการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ หากเริ่มปี 2560 นี้ เบื้ยประกันที่จัดเก็บจากประชากรวัยทำงานจะอยู่ที่ 500 บาทต่อปี และปรับเพิ่ม 500 บาททุก 5 ปี เพื่อให้ระบบยืนอยู่ได้ แม้ว่าภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการดำเนินกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) แต่เป็นการสนับสนุนงบประมาณโดยภาครัฐจากภาษีประชาชน ซึ่งแนวโน้มค่าใช้จ่ายดูแลจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ในปี 2590 จะเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท จึงต้องมีระบบรองรับดูแลที่ยั่งยืน ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ เพราะนอกจากโรงพยาบาลเตียงเต็มเข้าไม่ถึงบริการแล้ว ยังไม่มีระบบรองรับการดูแลที่บ้าน” ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าว

ดร.วรวรรณ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการกองทุนนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาบริหาร ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานกองทุน LTC อยู่แล้ว แต่ให้มีการจัดเก็บเบื้ยประกันสมทบเพื่อเข้ากองทุนและปรับให้เหมาะสม สำหรับข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นทิศทางที่ให้ประชาชนช่วยกันคิดว่า กองทุนลักษณะนี้ในสังคมไทยควรเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งในด้านวิชาการได้ศึกษาและคำนวณความเป็นไปได้แล้วว่า หากจัดเก็บเบี้ยประกันในรูปแบบและอัตราระดับนี้จะครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้ ไม่แต่เฉพาะบัตรทอง แต่ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคนในประเทศ

“ข้อเสนอจัดตั้งกองทุนฯ นี้เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ ซึ่งในการเก็บประกัน ก่อนอื่นคนไทยต้องรู้ว่าจ่ายเบี้ยประกันนี้แล้วได้อะไร ดังนั้นเป็นเรื่องข้อมูลความรู้ที่ต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะมีส่วนในการคิดและตัดสินใจของประชาชน ที่ผ่านมาเรามักกลัวว่าประชาชนจะยอมร่วมจ่ายหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงของการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการจ่ายเพื่ออนาคต ไม่ให้เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ดร.วรวรรณ กล่าว