ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

10 ข่าวเด่นสาธารณสุข ปี 60 ตูนวิ่งช่วย รพ.ยอดทะลุพันล้าน นายกฯอนุมัติใงบกลาง 5 พันล้าน ให้ สธ.แก้ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง พยาบาลประท้วงหลัง ครม.ไม่อนุมัติตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่ จนต้องอนุมัติภายหลัง แก้กฎหมายบัตรทองวุ่น ล้มประชาพิจารณ์ 4 ภาค

ในปี 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกปีหนึ่งซึ่งมีข่าวที่หลากหลาย และหลายข่าวที่สร้างสีสันในวงการสาธารณสุขและระบบสุขภาพ สำนักข่าว Hfocus จึงได้ทำการสรุป 10 ข่าวเด่น เพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านได้ย้อนสถานการข่าวสุขภาพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

1.“ตูน บอดี้สแลม” วิ่งระดมทุนช่วย 11 รพ.

ต้องบอกว่าการวิ่งของตูน บอดี้สแลมในครั้งนี้ ได้สร้างกระแสที่สุดแห่งปี หลังจากที่ได้วิ่งระดมทุนให้กับ รพ.บางสะพานเมื่อปีที่แล้ว โดยในปี 2560 นี้ เป็นการระดมทุนเงินบริจาคให้กับ 11 รพ. วิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวม 55 วัน เป็นระยะทาง 2,215 ก.ม. ตลอดระยะทางการวิ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนที่ต่างให้กำลังใจและติดตาม ส่งผลให้ยอดการบริจาคทะลุเป้าถึง 1,195 ล้านบาท ต้องเรียกว่าเป็นการระดมทุนครั้งประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ผลตูน บอดี้แสลม ได้รับเลือกเป็น “บุคคลแห่งปี” จากการสำรวจโดยซุปเปอร์โพล

ทั้งนี้การวิ่งของตูนในครั้งนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นปัญหาความขาดแคลนในระบบสาธารณสุขแล้ว ยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำอะไรอยู่ ทำให้ตูนต้องออกมาวิ่งระดมเงินบริจาค ขณะเดียวกันยังมีการพาดพิงถึงการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเหตุให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจง โดยระบุว่า การดูแลสุขภาพประชาชนโดยใช้งบประมาณรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถให้งบประมาณเพียงพอได้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศเดินต่อไปได้

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง 5,000 ล้านบาท ให้กับ สธ.เพื่อแก้ปัญหา รพ.ที่ขาดสภาพคล่อง

2.แก้กฎหมายบัตรทองวุ่น ล้มเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค

ภายหลังจากที่ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... แล้วเสร็จ ในช่วงขั้นตอนเปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย ด้วยในหลายประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง ทั้งการเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. การแยกเงินเดือน การตัดการทำหน้าที่จัดซื้อยาโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งภาคประชาชนโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองว่า เป็นการทำลายสาระสำคัญและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาของประชาชนผู้มีสิทธิ 48 ล้านคน และผู้ป่วยที่รับการรักษาในขณะนี้ได้

ทั้งในการจัดประชายังถูกมองว่าไม่เปิดกว้าง เป็นเพียงการเล่นปาหี่เพื่อเป็นตราประทับในการนำเสนอแก้ไขกฎหมายเท่านั้น ส่งผลให้ภาคประชาชนรวมตัวคัดค้านร่างกฎหมายบัตรทองฉบับนี้ และล้มเวทีประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาค ทั้งที่ จ.สงขลา ขอนแก่น เชียงใหม่ และ กทม. ภายใต้วลีเด็ด “ถ้าแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า”

ขณะนี้ ร่างกฎหมายบัตรทอง สธ.ได้มีการนำเสนอเพื่อเข้าสู้การพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างการขอความเห็นต่อร่างกฎหมายไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตัวแทนภาคประชาชนได้มีการเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายออกไป ซึ่งในปี 2561 คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อจากนี้

3.มอบ รพ.ราชวิถี จัดซื้อยาแทน สปสช.

จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทักท้วงตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สปสช.ไม่มีอำนาจในจัดซื้อยานั้น ขณะเดียวกันยังมีคำสั่ง ม.44 โดย คสช. ให้ สปสช.จัดซื้อยาได้ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2560 โดย บอร์ด สปสช.ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน จึงได้มีมติเสียงส่วนใหญ่ มอบให้ รพ.ราชวิถี ในฐานะเครือข่ายหน่วยบริการตามกฎหมาย ทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช. โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามดำเนินการ

ทั้งนี้การมอบให้ รพ.ราชวิถีทำหน้าที่จัดซื้อยาแทนนั้น ได้มีการตั้งข้อสังเกตโดยภาคประชาชนที่ระบุว่าเป็นความพยายามในตัดลดอำนาจและบทบาทหน้าที่ของ สปสช. หรือไม่ ทั้งที่ตลอดระยะเวลาการดำเนินนโยบายจัดซื้อยารวมระดับประเทศในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีผลงานปรากฎชัด นอกจากทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาแล้ว ยังช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ที่ไม่มีการเพิ่มเติมเนื้อหากฎหมายเพื่อรองรับให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาต่อได้

ขณะเดียวกันยังเกิดเหตุวุ่นวาย ในช่วงการโอนถ่ายหน้าที่จัดซื้อยาไปยัง รพ.ราชวิถี จากการดำเนินงานต่างๆ ในการจัดซื้อยาปี 2561 มีความล่าช้า ส่งผลให้ภาคประชาชนต่างเกิดความกังวลเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยขาดยา

4.“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” รับเทศกาลสงกรานต์

ภายหลังจากที่ได้มีความพยายามต่อเนื่องในการปรับปรุงนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” (Emergency Claim Online: EMCO) เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับบริการยัง รพ.ที่อยู่ไกล้ที่สุดได้ แต่ด้วยอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เป็นที่ยอมรับของ รพ.เอกชน ส่งผลให้เกิดปัญหาการปฏิเสธรักษา หรือเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้นโยบายนี้เกิดประสิทธิผลในการดูแลประชาชนได้อย่างแท้จริง และรองรับการดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงปรับปรุงเปลี่ยนเป็น “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) โดยได้มีการเร่งจัดทำ “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดอัตราการจ่ายที่ รพ.เอกชนยอมรับได้ โดยได้เชิญสมาคม รพ.เอกชน และผู้แทน รพ.เอกชนเข้าร่วมหารือกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกัน และได้นำหลักเกณฑ์ฯ ที่จัดทำขึ้น เสนอต่อ ครม.อนุมัติ โดยเริ่มมีผลบังคังใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบายนี้ ผู้ป่วยจะต้องมีอาการตามเกณฑ์การวินิจฉัยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยเฉพาะในช่วง 72 ชั่วโมงแรกเท่านั้น จากนั้นต้องมีการประสานเพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาต่อยัง รพ.ตามสิทธิรักษาพยาบาล โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ตั้งศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อดูแล ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือน มีจำนวนผู้ป่วยขอใช้สิทธิ 15,243 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 6,757 รายหรือประมาณร้อยละ 44

5.ค้านกฎหมายนิวเคลียร์ คุมเครื่องเอกซเรย์

นับเป็นอีกประเด็นร้อนของระบบสาธารณสุขในปีนี้ จากกรณีที่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ได้ประกาศใช้ มีผลครอบคลุมถึงเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ได้ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพแพทย์และระบบสุขภาพอย่างมาก

ซึ่งนอกจากบังคับการจดทะเบียนกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แล้ว ยังกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) โดยเจ้าหน้าที่ RSO ต้องขึ้นทะเบียนกับ ปส. ขณะเดียวกันยังกำหนดโทษที่รุนแรง หากไม่ขึ้นทะเบียนเครื่องเอกซเรย์โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ RSO โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ส่งผลให้วิชาชีพในระบบสุขภาพร่วมคัดค้าน โดยเฉพาะทันตแพทย์ที่ต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีในคลินิกทันตกรรมเพื่อใช้ประกอบการการรักษาผู้ป่วย จึงได้มีการเคลื่อนไหวจากทันตแพทยสภา ร่วมกับสภาวิชีพต่างๆ ด้านสุขภาพ เพื่อให้มีการออกประกาศยกเว้นให้เครื่องเอกซเรย์ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีรังสีต่ำมาก มีการใช้มานานแล้ว และมีความปลอดภัย ทั้งนี้หากมีการครอบคลุมถึงเครื่องเอกซเรย์ยังส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาของประชาชน เพราะจะทำให้ในการรักษาและวินิจฉัยที่ต้องใช้เครื่องเอกซเรย์จะต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีความแออัดในการรับบริการอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้ยังคงต้องตามต่อเนื่องในปีหน้า

6.นโยบาย “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ”

นับเป็นนโยบายที่สร้างสีสันในช่วงวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.60 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2513 ครอบครัวหนึ่งมีลูกเฉลี่ย 6 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1.6 คน ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้มีจำนวนประชากรทดแทน กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนโยบาย “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ" เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความพร้อมมีลูกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์นี้ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาในหลายประเทศ จากวิถีชีวิตสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การมีลูกในแต่ละครอบครัวลดลง

ทั้งนี้การประกาศนโยบายนี้ได้มีเสียงวิพาษ์วิจารณ์ เนื่องจากการสนับสนุนให้คนไทยมีลูกเพิ่มมากขึ้นนั้น รัฐบาลจะต้องจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อส่งเสริมนอกจากในช่วงตั้งครรภ์ ต้องมีนโยบายสนับสนุนระยะยาว โดยเฉพาะการเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นขณะนี้ อาทิ ให้แม่ลาคลอดได้ 90 วัน สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ จำนวน 600 บาท/เดือน แจกวิตามินธาตุเหล็กและโฟลิกเพื่อให้ร่างกายผู้หญิงมีความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ให้ผู้ชายที่รับราชการสามารถลางานได้ 15 วัน ไปดูแลภรรยาและลูกหลังคลอด โดยได้รับเงินเดือนปกติ

7.พยาบาลประท้วงวุ่น ครม.ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ 10,992 ตำแหน่ง

เป็นอีกปีหนึ่งของเหล่าพยาบาลวิชาชีพที่ต้องออกมาขอความเป็นธรรมในการบรรจุตำแหน่งข้าราชการอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2553 ได้เคยยกขบวนประท้วงม๊อบชุดขาวในปี 2553 จนเป็นข่าวดังมาแล้ว โดยการออกมาเรียกร้องในปีนี้สืบเนื่องจาก ครม.เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 ได้มีมติตามที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ ที่ให้บรรจุเฉพาะพยาบาลตามโครงการผลิตบุคลากรพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่ารวม450 อัตราเท่านั้น และไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น

งานนี้เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ได้รณรงค์ผ่าน Facebook/ Nurse Team Thailand ซึ่งมียอดกดไลค์กว่า 70,000 ไลค์ ระบุว่า “ขอเชิญชวนพยาบาลทุกท่านร่วมเปลี่ยนภาพ profile เพื่อแสดงจุดยืน กรณีรัฐบาลไม่อนุมัติตำแหน่งใหม่ให้พยาบาล 10,992 อัตรา โดยระบุ ขอบคุณรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของพยาบาล = รัฐบาลทิ้งประชาชน” พร้อมออกแถลงการณ์ พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเตรียมลาออกทั้งประเทศ 30 ก.ย. 60 ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนมติใหม่โดยสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหารือ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 60 ครม.จึงมีมติอนุมัติบรรจุพยาบาล 10,992 อัตรา โดยให้บรรจุตามที่มีอัตราว่าง 2,200 อัตราก่อน ส่วนอีก 8,792 อัตรา ให้แบ่งการบรรจุเป็น 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2662 โดยปีงบประมาณ 2560 จะนำเอาอัตราว่าง 2,200 อัตราบวกกับ 2,992 อัตราที่อนุมัติรับเพิ่ม ส่วนปีงบประมาณ 2561 และ 2562 จะบรรจุเพิ่มปีละ 2,900 อัตรา จนครบอัตราทั้งหมด

8.“หมอยอร์น” ขับรถชน รปภ.สธ. เข้าไอซียู

ถือเป็นข่าวฉาวกระทรวงสาธารณสุขส่งท้ายปี 2560 ก็ว่าได้ จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปผ่านโซเชียล “หมอใหญ่ สธ.ขับรถชน รปภ.สธ.บาดเจ็บสาหัสปางตาย” จากการติดตามโดยสื่อมวลชนทราบภายหลังว่าบุคคลดังกล่าวคือ นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์เขต 12 พร้อมรายงานเหตุการณ์วันเกิดเหตุเป็นช่วงเวลา 20:30 น.มีรถยนต์ฮอนด้าสีขาว ขับมาด้วยความเร็วจากปากทางสถาบันบำราศนราดูร มุ่งหน้าเข้า สธ.ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการปิดประตูสัญจรที่ 2 โดยขณะนั้นนายสมชาย ยามดี รปภ.สธ.กำลังนำกุญแจมาคล้องประตู โดยรถคันดังกล่าวได้พุ่งเข้ามาด้วยความเร็ว ชนเข้ากับประตูเหล็กอย่างแรง จนร่างนายสมชายถูกประตูเหล็กอัดเข้าอย่างแรง โดยผู้ขับรถยังเหยียบคันเร่งจนลากร่างของ รปภ.ไปไกลประมาณ 20 เมตร

ทั้งนี้ตำรวจได้แจ้งดำเนินคดี 5 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย 2.เมาสุราขณะขับรถ3.ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและปฏิเสธในการเป่าวัดแอลกอฮอล์ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่มีกฎหมายจราจรทางบก ระบุให้สันนิษฐานถือว่าผู้นั้นเมา 4.พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว 5.ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บแล้วหลบหนีและไม่หยุดลงมาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการตั้งข้อสังเกตน่าจะเกิดจากภาวะเมาแล้วขับ เพราะมีการบ่ายเบี่ยงไม่เป่าวัดแอลกอฮอล์ในวันเกิดเหตุ

ขณะที่ รปภ.ที่ได้รับบาดเจ็บต้องเข้าไอซียู รพ.บำราศนราดูรและรับการผ่าตัดสมอง ซึ่งใช้เวลารักษาใน รพ.นานร่วม 2 เดือน โดยมีอาการดีขึ้นและหมอนัดผ่าตัดใส่กระโหลกเทียมเพื่อให้ศรีษะกลับมาคงรูป พร้อมระบุว่า หลังเกิดเหตุหมอยอร์นได้มาเยี่ยมที่ รพ.ทุกวัน พร้อมรับออกจาก รพ.มาส่งที่บ้าน

9.รพ.เอกชน กทม. แห่ออกจากระบบ บัตรทอง – ประกันสังคม

แม้ว่าการเข้าออกจากหน่วยบริการคู่สัญญาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยปีนี้มี รพ.เอกชนใน กทม. ถึง 4 แห่ง ทั้งที่ขอออกจากการเป็นหน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วย ได้แก่ รพ.มเหสักข์, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.วิภารามปากเกร็ด และ รพ.บางนา 1 ส่งผลให้มีผู้ป่วยราว 2.5 แสนรายได้รับผลกระทบ เพราะจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองต่อเนื่องใน รพ.เดิมได้ จนกลายเป็นข่าวดังรอบปี

สาเหตุการขอออกจากระบบเนื่องมาจากมีการปรับปรุงสถานที่ของ รพ. และการปรับอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในตามค่าน้ำหนักสัมพันธ์ (RW) ลดลง ซึ่ง สปสช.ได้ปรับตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ เพื่อสามารถใช้สิทธิการรักษาต่อเนื่องได้

จากข่าวข้างต้นนี้ยังตามติดด้วยประเด็นร้อน โดย รพ.มงกุฎวัฒนะออกประกาศไม่รักษาผู้ป่วยหัวใจบัตรทอง ทั้งการทำบอลลูน ใส่สายสวนหัวใจและผ่าตัดหัวใจ ในปีงบประมาณ 2561 นี้ ทำให้ผู้ป่วยหัวใจที่รอคิวรักษา 40-50 คนในเดือนตุลาคม 2560 จะไม่ได้รับการรักษา ทั้งนี้เนื่องมาจากไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ สปสช.ที่กำหนดให้มีแพทย์หัวใจประจำเวลาราชการ เนื่องจาก รพ.มงกุฎวัฒนะ นอกจากเป็นหน่วยบริการประจำระบบบัตรทองแล้ว ในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจยังมีศัลยแพทย์หัวใจหมุนเวียนเพื่อดูแลผู้ป่วยหัวใจได้ตอลด 24 ชั่วโมง โดยหลังการหารือทางออกร่วมกัน ปัญหาได้จบลงด้วยดี ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้บังคับเฉพาะหน่วยบริการที่รับส่งต่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ทำให้ รพ.มุงกฎวัฒนะยังคงร่วมให้บริการรักษาผู้ป่วยหัวใจสิทธิบัตรทองต่อไป

นอกจากข่าว รพ.เอกชน ยกเลิกเป็นหน่วยบริการประจำระบบบัตรทองแล้ว ในปี 2560 ยังมีข่าว รพ.เอกชนขอถอนตัวออกจากระบบประกันสังคมด้วยเช่นกัน ได้แก่ รพ.ยันฮี กรุงเทพฯ, รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และ รพ.ศรีระยอง จ.ระยอง โดยได้ทำการแจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกสถานพยาบาลใหม่ ทั้งนี้ประกันสังคมมี รพ.ที่เป็นเครือข่ายบริการ 236 แห่ง เป็น รพ.รัฐ 158 แห่ง และ รพ.เอกชน 78 แห่ง

10.UN รับรอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก” ตามที่ไทยเสนอ

ส่งท้ายข่าวเด่นปีนี้ด้วยข่าว สมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองข้อมติให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” หรือ UHC Day (International Universal Health Coverage Day) ซึ่งเป็นข้อเสนอจากการหารือระดับรัฐมนตรีกลุ่มริเริ่มนโยบายด้านสุขภาพ (Foreign Policy and Global Health Initiative) (FPGH) ที่ไทยโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการหารือระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนของประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ เซเนกัล แอฟริกาเข้าร่วม ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม FPGH

การรับรองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการสร้างและผลักดันให้แต่ละประเทศดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อคุ้มครองประชาชนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลเน้นการดำเนินนโยบายสุขภาพเพื่อประชาชน และยังเป็นต้นแบบของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง