ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โจทย์ท้าทายของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ มิได้มีเพียงแค่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบกับ ระบบสุขภาพ ในอนาคต เริ่มจากการเพิ่มศักยภาพบุคคลและองค์กรให้เข้มแข็ง เพื่อผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปกป้องสุขภาวะคนไทย

การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี ๒๕๖๐ ในหัวข้อ “Looking into the Future, Assessing the Current Situation” วันที่ ๒๘-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา จัดโดย คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) ร่วมกับ แผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ (ITH) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการนำเสนอประเด็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ รับมือความท้าทายที่เกิดจากการนโยบายการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันและอนาคต

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มองว่า ประเด็นของการค้าและสุขภาพ เปรียบเหมือนเหรียญ ๒ ด้าน อาจมีเป้าหมายที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ฝั่งตรงข้ามแบบซ้าย-ขวา แต่ต้องหาคำตอบที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งประเทศ และจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพ และสานพลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งที่อยู่ในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพ

“ภาคส่วนด้านสุขภาพ อาจมองว่าปัญหาสุขภาพสำคัญ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มองว่าการค้าเป็นเป้าหมายหลัก ทั้งสองฝ่ายจึงต้องทำความเข้าใจกันและกัน ไม่ใช่มุ่งเน้นสุขภาพแต่อย่างเดียว หรือจะเจรจาการค้าให้ผ่านพ้นไปโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น เราจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพควบคู่ไปด้วย”

รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาเรื่องนี้มาแล้วพอสมควร เริ่มจาก ระดับปัจเจกชน (Individual) เช่น การส่งคณะผู้แทนไทยที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ไปเจรจาจัดทำข้อเสนอในเวทีสมัชชาอนามัยโลก เพื่อฝึกฝน สร้างประสบการณ์ทำงานระดับสากล ขยายผลสู่ ระดับหน่วยงาน (Node) มีการจัดตั้งแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (ITH) ที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เพื่อสร้างองค์ความรู้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อใช้ประกอบการเจรจา สร้างความเข้มแข็งในการเจรจาการค้าควบคู่กับสาธารณสุข และ เชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วน ภายใต้กลไกของ คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสม

“ปัจจุบัน ประเด็นด้านสุขภาพมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นที่ต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญและทำความเข้าใจให้รอบด้านมากขึ้น ประสานร่วมมือกันทำงานให้อยู่ภายใต้ Health in All Policies คือการทำอย่างไรให้เรื่องสุขภาพเป็นมิติที่ปรากฏในทุกนโยบาย นำเครื่องมือที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA อย่ามองว่าเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ แต่เป็นเครื่องมือสำหรับการหาทางเลือกที่ดีที่สุด ยอมรับความถูกต้อง รับผิดชอบ กระบวนการที่โปร่งใส เพื่อผลลัพธ์ที่ไม่ใช่เพียงความยั่งยืนในยุคปัจจุบัน แต่เป็นการส่งต่อความยั่งยืนไปยังอนาคตสู่ลูกหลานของเราต่อไปอีกด้วย”

นางอรพรรณ ย้ำว่า รูปธรรมหลังจากนี้จำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่าการปกปิด เพราะเมื่อข้อตกลงการค้ามีผลแล้วก็จะแก้ไขได้ลำบาก

รศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์

รศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยกตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ คือ การปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรภายใต้แรงกดดันของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมยาอย่างเห็นได้ชัด คือ ในอตีต ประเทศไทยนำเข้ายาเพียงร้อยละ ๓๐ ผลิตได้เองร้อยละ ๗๐ แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้ายาร้อยละ ๗๐ แต่ผลิตเองเพียงร้อยละ ๓๐

นอกจากนั้น องค์การการค้าโลกได้มี ข้อตกลงว่าด้วยการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) เพื่อคุ้มครองสิทธิบัตรยา โดยประเทศที่ได้ประโยชน์คือประเทศที่มีนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา ซึ่งช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีการขอสิทธิบัตรยาจำนวน ๒,๑๘๘ คำขอ แต่เป็นสิทธิบัตรของคนไทยเพียงร้อย ๐.๕ เท่านั้น ที่เหลือเป็นของต่างชาติและเป็นบริษัทใหญ่ในสหรัฐและอียู

“นอกเหนือจากพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ต้องย้อนกลับมาดูอุตสาหกรรมยาในประเทศที่ควรได้รับการสนับสนุนให้แข็งแรงขึ้น ทั้งด้านกระบวนการวิจัย การขออนุญาต และงบประมาณลงทุน เพื่อลดการพึ่งพิงยาจากต่างประเทศ”

ศาสตราจารย์ แอนดริว มิทเชล (Prof. Andrew Mitchell)

ด้าน ศาสตราจารย์ แอนดริว มิทเชล (Prof. Andrew Mitchell) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เล่าประสบการณ์ทำงานปกป้องระบบสุขภาพของออสเตรเลีย โดยการศึกษาวิจัยค้นพบว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะ โรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จากการเปิดให้มีการนำเข้าอาหารบางประเภท บุหรี่ และแอลกอฮอล์ ซึ่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูง ได้เข้ามาต่อสู้ด้านกฎหมายกับประเทศคู่ค้า นำเงื่อนไขของ WTO ที่ว่าทุกชาติสมาชิกต้องไม่เลือกปฏิบัติทางการค้า แต่ WTO ก็มีข้อยกเว้นเปิดช่องให้ประเทศต่างๆ ออกระเบียบเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนภายในประเทศได้ โดยก่อนที่จะมีการเปิดเสรีการค้า รัฐบาลออสเตรเลียได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบและเป็นวงกว้าง ทั้งด้านการค้า การลงทุน แนวโน้มเทคโนโลยี รวมถึงผลกระทบทางสุขภาพ ป้องกันความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการตั้งรับการฟ้องร้องของภาคอุตสาหกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ออสเตรเลียมีการพัฒนาศักยภาพและสร้างขีดความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวิจัย การฝึกอบรมบุคลากร การกระจายข้อมูล การพัฒนาระเบียบกฎหมายร่วมกันของทุกภาคส่วน นอกจากภาครัฐและหน่วยงานด้านสุขภาพแล้ว ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญมาร่วมสนับสนุนในการเตรียมพร้อมด้านการค้าระหว่างประเทศ” ศาสตราจารย์ แอดริว มิทเชล ระบุ