ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“พระมหาประยูร” แจงแนวทางขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน “สธ.-พศ.-สสส.-สปสช.-สช.” จัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาพยึดทางธรรมนำทางโลก เชื่อมโยงภารกิจร่วมกับโครงสร้างปกครองคณะสงฆ์ จ่อคลอดสิทธิประโยชน์พระแต่ละพื้นที่

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งได้ประกาศใช้ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อปลายปี 2560 ว่า ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 มีการลงนามในเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

ทั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงาน จะมีภารกิจต้องร่วมกันทำใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.สุขภาพพระสงฆ์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มความสามารถ 2.ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ โดยให้ยึดทางธรรมนำทางโลก 3.เน้นการเชื่อมโยงความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานต่อการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับคณะสงฆ์ ประชาชน ชุมชน และสังคม 4.สร้างกลไกการติดตามประเมินผลเพื่อนำไปสู่การทำงานอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนั้น สช.ได้สนับสนุนให้ขึ้นรูปธรรมนูญและมีการประกาศใช้ ขณะที่ สสส.ได้สนับสนุนให้มีการนำธรรมนูญไปทดลองหรือขับเคลื่อนพื้นที่นำร่อง 20 พื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้เกิดรูปธรรม อาทิ จัดทำสิทธิประโยชน์ของพระสงฆ์ การให้องค์ความรู้แก่พระสงฆ์เพื่อให้เข้าใจสิทธิที่พึงมี ซึ่งแต่ละพื้นที่จะแตกต่างออกไปตามบริบทและสภาพปัญหาของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในภาพกว้างนั้นการทำงานจะยึดโยงกับโครงสร้างการปกครองของคณะสงฆ์ คือ 1.จะมีฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ซึ่งมีคณะกรรมการทั่วประเทศในระดับจังหวัด รวมแล้วประมาณ 700-800 รูป 2.จะทำงานร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 3.เครือข่ายสถาบันการศึกษาสงฆ์

พระมหาประยูร กล่าวว่า เนื่องจากองค์กรภาคีด้านสุขภาพต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว ดังนั้นแม้ว่าหลักการในการทำงานเชิงพื้นที่จะใช้ทางธรรมนำทางโลก แต่ในการทำงานจริงนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกัน ตัวอย่างเช่น จ.สุโขทัย พอเจ้าคณะปกครองนัดประชุมกันว่าท่านจะเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติอย่างไร จากนั้นหน่วยงานของ สธ.ก็มาร่วมประชุมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะออกแบบการขับเคลื่อนอย่างไรต่อ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีงบประมาณและวัตถุประสงค์ของตัวเอง ตรงนี้ก็จะต้องคุยกันว่าจะร่วมกันทำงานได้อย่างไร

“ที่เห็นเป็นปรากฏการณ์คือคณะสงฆ์ท่านตื่นตัว และเจ้าคณะปกครองก็ลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือในบางพื้นที่ท่านก็ได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณเอง หางบประมาณเพื่อจะขับเคลื่อนเอง ถึงแม้ในชั้นต้นจะมีการนำธรรมนูญไปทดลองใช้ แต่ที่คณะสงฆ์ทำเองควบคู่กันไปด้วยนั้นเยอะมาก” พระมหาประยูร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง