ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ชื่นชมครัวฮาลาลโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต้นแบบด้านสุขาภิบาลอาหารและครัวฮาลาล ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล Hal-Q จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยมี นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 ร่วมคณะ

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็น 1 ใน 10 โรงพยาบาลชุมชนที่กระทรวงสาธารณสุขสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ดำเนินงานตามรูปแบบ “โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” (More than hospitals) โดยเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนการดูแลประชาชนตามบริบทและความต้องการของพื้นที่ ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู

นพ.มรุต กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลยี่งอฯ ผ่านการประเมินมาตรฐาน GREEN & CLEAN Hospital เป็นต้นแบบองค์กรลดโลกร้อน ได้รับรางวัลมาตรฐานส้วมสะอาดยอดเยี่ยมระดับประเทศ เป็นต้นแบบด้านสุขาภิบาลอาหารและครัวฮาลาล ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล Hal-Q จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยบูรณาการมาตรฐานฮาลาล เข้ากับระบบความปลอดภัยอาหาร เน้นความสะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และถูกต้องตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นต้นแบบครัวฮาลาลให้โรงเรียนนำร่อง 8 แห่งผ่านการรับรองด้านสุขาภิบาลอาหารและครัวฮาลาล เตรียมขยายการดำเนินงานไปในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนที่เหลือในยี่งอ และชุมชนในจังหวัดนราธิวาส รวมถึงในเขตสุขภาพที่ 12 ต่อไป

ด้านการให้บริการ ได้จัดทีมออกให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่รับผิดชอบดูแลทั้ง 6 แห่ง โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง แบบใกล้บ้านใกล้ใจในชุมชน จัดบริการคลินิกไร้พุง หรือ DPAC Clinic (Diet & Physical Activity Clinic) โดยปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ อาทิ กลุ่มโรคอนามัยแม่และเด็ก กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรม โดยได้วางแผนจัดทำศูนย์เรียนรู้ DPAC Road เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนมีสถานที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมตามบริบทของอำเภอยี่งอ ตั้งเป้าลดผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากปี 60 ที่พบร้อยละ 4 ให้ได้ไม่เกินร้อยละ 2

ปัจจุบัน โรงพยาบาลยี่งอฯ เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ให้บริการจริง 44 เตียง ดูแลประชาชนในพื้นที่ 45,694 คน ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 238 คนต่อวัน และผู้ป่วยในเฉลี่ย 14 คนต่อวัน มีบุคลากรทั้งสิ้น 188 คน ให้บริการครบทุกมิติ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมดูแลพัฒนาโรงพยาบาลในรูปแบบคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (DHB)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง