ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมมือกับ Kyoto Prefectural University kyoto prefectural university of medicine พัฒนาแผนการรักษาและการใช้เทคโนโลยีในการรักษาโรคตาชนิดต่างๆ และผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ผิวกระจกตาเพาะเลี้ยงจากสเต็มเซลล์ของผู้ป่วย ได้ประสบผลสำเร็จ

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตา และการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคตา แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ร่วมมือกับ Kyoto Prefectural University kyoto prefectural university of medicine พัฒนาแผนการรักษาและการใช้เทคโนโลยีในการรักษาโรคตาชนิดต่างๆ และผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ผิวกระจกตาเพาะเลี้ยงจากสเต็มเซลล์ของผู้ป่วย ได้ประสบผลสำเร็จ

รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา ให้การบริการรักษากระจกตาโดยเฉพาะ ด้วยอุปกรณ์และวิทยาการรูปแบบใหม่ ซึ่งแต่เดิมศูนย์ฯแห่งนี้คือ หน่วยกระจกตา ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีชื่อเสียงในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ให้กับผู้ป่วยสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะก่อตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เช่นทุกวันนี้ ซึ่งได้เปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการ โรคผิวกระจกตา และผู้ที่มีภาวะพร่องเนื้อเยื่อเซลล์ต้นกำเนิดของผิวกระจกตา โรคกระจกตาเสื่อม กระจกตาอักเสบ กระจกตาติดเชื้อ ด้วยทีมแพทย์ประจำศูนย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกระจกตาระดับต้นๆ ของเมืองไทย

ปัจจุบันศูนย์ฯร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด โดย ผศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้ทำการวิจัยเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาได้สำเร็จ ทั้งนี้ในศูนย์ฯมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับให้บริการ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ฯ ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคกระจกตาทุกชนิดอย่างครบวงจร ทำให้ผู้ป่วยโรคกระจกตาชนิดซับซ้อนจากหลากหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศจึงถูกส่งตัวมารักษา ณ ศูนย์ฯ แห่งนี้

รศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตา และการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคตา แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคภาวะพร่องเนื้อเยื่อเซลล์ต้นกำเนิดของผิวกระจกตา พบได้มากในคนไทย โดยมีสาเหตุจาก อุบัติเหตุหรือโรคต่างๆ ได้แก่ กรด ด่างเข้าตา การโดนความร้อน ควันระเบิด การแพ้ยาแบบกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน กระจกตาติดเชื้อ ภาวะภูมแพ้ที่มีการอักเสบเรื้อรัง และโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีผลทำให้ LSC ลด จำนวนลง ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ผิวกระจกตาจึงไม่เรียบ เกิดแผลเรื้อรัง มีเส้นเลือดจากเยื่อบุตาลุกล้ำเข้ามาในกระจกตา กระจกตาฝ้าขุ่นทำให้การมองเห็นลดลง กระจกตาทะลุ ติดเชื้อจนถึงตาบอด การรักษาโรคนี้ในอดีตทำโดยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา แต่เนื่องจากไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ กระจกตาที่เปลี่ยน เปลี่ยนไปอยู่ได้ไม่นาน เกิดแผลเรื้อรัง มีเส้นเลือดงอกเข้ามา และกระจกตากลับมาขุ่น ทำให้ผู้ป่วยมองไม่เห็นดังเดิม

ปัจจุบันนี้ ศูนย์ฯกับหน่วยวิจัยเซลล์และเซลล์บำบัดแห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเป็นลำดับขั้น โดยในปี พ.ศ.2548 ทำการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ของผิวตาได้เป็นผลสำเร็จ และมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในสัตว์ทดลองเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2550 หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2551 จึงได้มีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาฯเป็นครั้งแรก จำนวน 20 ราย ในปี 2559 อีก 10 ราย และในปี 2561 วางแผนปลูกถ่ายอีก 20 ราย ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 6 ราย และได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ จึงเป็นความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคภาวะพร่องเนื้อเยื่อเซลล์ต้นกำเนิดของผิวกระจกตา

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงแบบใหม่ด้วยระบบที่สนับสนุนการเพาะเลี้ยงระยะยาว โดยวิธีใหม่จะสามารถเพาะเซลล์ต้นกำเนิดที่รับมาจากตาข้างที่ดีของผู้ป่วยเอง (autologous donor) หรือจากตาผู้บริจาค (allogenic donor) ที่ได้จากศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย โดยพบว่าสามารถนำมาเลี้ยงเพิ่มปริมาณเซลล์อย่างต่อเนื่อง (multiple passage) โดยเซลล์ที่ได้ยังคงคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดไว้ได้ การศึกษาวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์นี้จึงนับเป็นความหวังทั้งของผู้ป่วยและวงการจักษุแพทย์ไทยในการรักษาให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมามองเห็นอีกครั้ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง