ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย จัดงาน “ปาฏิหาริย์-เปลี่ยนมะเร็ง-ให้เป็นสุข MIRACLE is all around” ครั้งที่ 5 เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยเนื่องในวันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ให้ก้าวผ่านโรคมะเร็งป่วยอย่างมีความสุข พร้อมเปิดประสบการณ์การต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เป็นถึง 3 ครั้ง ของ เมย์ หทัยชนก บุญพิชญาภา และคุณพิมพ์-สุวพร ดำรงสุกิจ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และนักกีฬาปีนผาทีมชาติไทย

ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย

ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยคาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 3,000 ราย หรือ เทียบเท่า 8 รายต่อวัน และแนวโน้มมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อย่างชัดเจน

แต่อย่างไรก็ตามมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด มีโอกาสรักษาหายขาดได้ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สำหรับอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจคล้ายกับอาการอื่นๆ ที่พบได้ในภาวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นไข้ น้ำหนักลด มีก้อนโตบริเวณลำคอหรือรักแร้ หากมีอาการดังกล่าวนานเดือน 3 สัปดาห์ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจต่อไป

ในส่วนของการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ยังมีนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ มากมาย ได้แก่ การใช้เคมีบำบัด การใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ การฉายแสง และการปลูกถ่ายไขกระดูก (สเต็มเซลล์) ซึ่งปัจจุบันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการอนุมัติการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal antibody) แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด นอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma : NHL) ชนิด diffused large B-cell lymphoma ที่มีเป้า CD 20 เป็นบวก ซึ่งให้คู่กับยาเคมีบำบัดสูตรมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่จะมีโอกาสหายขาดจากโรคมากขึ้น

ในปีนี้ "ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย" ด้วยความร่วมมือจากโรงเรียนแพทย์ และสถานพยาบาลที่สำคัญของประเทศ รวม 13 แห่ง ได้จัดกิจกรรม "ปาฏิหาริย์-เปลี่ยนมะเร็ง-ให้เป็นสุข : MIRACLE is all around – Fight to Lymphoma" ครั้งที่ 5 ขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ท ชั้น 6 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยการจัดงานในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนไข้โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกคน มีคุณภาพชีวิต และแรงบันดาลใจที่ดี เพื่อที่จะก้าวข้ามผ่านโรคร้ายไปให้ได้ และรู้สึกว่าถึงจะป่วยแต่ก็ป่วยอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ในงานยังร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ป่วย เพื่อสร้างกำลังใจ จากผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาทิ

หทัยชนก บุญพิชญาภา

เรื่องจริงของสาวแกร่งสุดสตรอง กับการมาเยือนของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถึง 3 ครั้ง 3 ครา ของ เมย์ หทัยชนก บุญพิชญาภา แต่ก็ยังต่อสู้กับโรคด้วยรอยยิ้มอันสดใส ปัจจุบัน คุณหมอมีการปรับแผนการรักษาแบบใหม่ โดยเป็นรักษาด้วยเคมีบำบัดเหมือนเดิม และเพิ่มเติมด้วยยาภูมิต้านทานแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือ Monoclonal antibody เข้าไปด้วย และแผนนี้ใช้ระยะเวลารักษาทั้งหมดประมาณ 1 ปี ซึ่งยาครั้งนี้ถือว่าผลการตอบสนองค่อนข้างดี ก้อนยุบลงเกือบหมด และผลเลือดก็ดูดีระดับนึงไม่ตกต่ำรุนแรงเหมือนที่ผ่านๆ มา ก็ยังพอจะมีรอยยิ้มต่อสู้ต่อไปได้

“ถึงแม้ว่าเส้นทางการต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของเมย์ ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายปลายทางจะเป็นยังไง และระหว่างทางที่เดินในอุโมงค์นี้จะต้องพบเจอเรื่องราวอะไรอีกบ้าง แล้วจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อไหร่ ซึ่งมันก็ไม่สำคัญเลย เพราะเมย์เชื่ออยู่เสมอว่า วันที่เราเริ่มต้นต่อสู้แล้ว ถ้าเราต่อสู้อย่างเต็มที่ สู้แบบไม่ถอย และสู้แบบดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าปลายทางจะเป็นยังไง เมย์ก็จะไม่รู้สึกเสียใจเลย และเมย์ก็หวังว่า เรื่องราวของเมย์จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ และกำลังใจดีๆ ให้กับทุกคนที่กำลังโลดแล่นอยู่บนเส้นทางของนักสู้เหมือนกับเมย์จะสู้ต่อไปเช่นกันพร้อมรอยยิ้มและกำลังใจ”

สุวพร ดำรงสุกิจ

ขอบคุณมะเร็งที่ให้ชีวิตใหม่ สู้จนรอดสู่นักปีนผาทีมชาติเรื่องจริง ของสาวมั่น สายสตรองคุณพิมพ์-สุวพร ดำรงสุกิจ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และนักกีฬาปีนผาทีมชาติไทย ที่เลือกจะอยู่กับมะเร็งอย่างเข้าใจ และมองโลกมุมใหม่ ภายใต้แนวคิด "เราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นๆ ด้วย" สาเหตุที่ทำให้ไปตรวจตอนนั้นก็คือ พิมพ์มีอาการไออย่างต่อเนื่องอยู่ประมาณ 2-3 เดือน และพอไปหาหมอ หมอให้ x-ray ทรวงอกก็เจอก้อนการรักษาของพิมพ์เป็นการให้คีโมต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วัน ทั้งหมด 6 รอบค่ะซึ่งแต่ละรอบนั้นพิมพ์อยู่โรงพยาบาลรอบละ 14 วัน มีเวลาออกมาข้างนอก 7 วัน แล้วกลับไปให้คีโมใหม่ หลังจากพิมพ์รู้วาพิมพ์ป่วยเป็นอะไร พิมพ์ได้ทำการปรึกษาคุณหมอ และหาข้อมูลเองอยู่สักระยะก็ทำให้พิมพ์ทราบว่า "โรคนี้มีโอกาสหาย" และยังสามารถหายขาดได้อีกด้วย

“เอาจริงๆ มันก็มีทั้งที่รักษาหาย และไม่หาย แต่เราเลือกโฟกัสแต่สิ่งดีๆ มองแต่คนที่หาย มันทำให้เราบอกกันตัวเองเสมอๆ ว่า “คนอื่นหายได้ทำไมเราจะหายไม่ได้ล่ะ” พิมพ์ก็มีช่วงเวลาทีท้อ และมีความรู้สึกอยากที่จะฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมาในหัวเหมือนกันเพียงแต่ว่า ณ จุดต่ำสุดของพิมพ์ ตรงนั้น พิมพ์ไม่เลือกที่จะจมอยู่กับมันนาน เพราะเมื่อเรามองไปข้างๆ เตียง เราเจอคุณแม่ที่ต้องเสียสละหยุดงานยกเลิกทุกอย่างที่มีเพื่อมานอนเฝ้า และดูแลเรา พี่น้องเราที่คอยมาหาเสียสละหยุดงานมาให้กำลังใจ มาดูแลเราเพื่อนๆ อีกมากมายที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาพูดคุยให้กำลังใจ โทรหา ส่งข้อความมา

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น มันทำให้เราเห็น และรู้สึกได้ว่าชีวิตเรานั้นช่างมีค่า และมีความหมายมากมายแค่ไหน จากที่เราเคยคิด เคยรู้สึกว่าฉันอยู่เพื่อตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง หรืออย่างมากก็ทำเพื่อตัวเอง และคนในครอบครัว แต่ทุกคนทำให้ได้รู้ว่า เราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นๆ ด้วย" ปัจจุบันคุณพิมพ์อยู่ในภาวะโรคสงบ และก้าวข้ามผ่านโรคร้ายมาได้ และมะเร็งยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พิมพ์มุ่งมั่นจนกลายมาเป็นนักกีฬาปีนผาทีมชาติไทยในปัจจุบัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง