ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด เปลี่ยนโรงพยาบาลห่างไกลเป็นแหล่งท่องเที่ยว จ่อเปิด SPA OUTDOOR นวดไทยกลางป่า บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายเอาใจผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันทำฟาร์มกระต่าย กวาง นกยูง ให้เด็กเพลิดเพลินผ่อนคลาย

พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิ้นทอง

พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิ้นทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตอนหนึ่งว่า กองทัพบกมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในหน่วยทหาร ซึ่งโรงพยาบาลมีความเหมาะสมมาก เนื่องจากเข้า-ออกง่ายกว่าหน่วยทหารอื่นๆ และในฐานะที่โรงพยาบาลเป็นหน่วยหนึ่งของกองทัพจึงได้คิดพัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อให้ตอบโจทย์และเกิดประโยชน์สูงสุด

พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลมีพื้นที่ประมาณ 190 ไร่ ในจำนวนนี้ใช้จริง 40 ไร่ จึงเหลืออีกประมาณ 150 ไร่ ซึ่งพื้นที่ว่างเหล่านั้นนอกจากทำโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับกำลังพลแล้ว ยังจะกันส่วนหนึ่งจัดทำโครงการ “spa outdoor” ในลักษณะเป็นห้องนวดในป่า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล

“โรงพยาบาลของผมอยู่ห่างไกลมาก เรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาล 2 แผ่นดิน คือเลี้ยวซ้าย 20 กม.เป็น จ.ร้อยเอ็ด เลี้ยวขวา 20 กม.เป็น จ.มหาสารคราม เรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาลบ้านนอก อยู่กลางทุ่ง ขณะที่ปัจจุบันพบว่าคนทั่วไปต้องการแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการเกษตร เช่น ที่ จ.อุบลราชธานี นิยมไปนั่งกินกาแฟในนา ผมเลยคิดว่าถ้าโรงพยาบาลทำเรื่องนวดไทย ฝังเข็ม ในบรรยากาศธรรมชาติ ร่มรื่น เย็นสบาย ใช้ไม้ไผ่ตีเป็นห้องขึ้นมา น่าจะได้รับความนิยม” พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าว

พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่เดินทางมายังโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความผ่อนคลาย ดังนั้นการทำ spa กลางธรรมชาติ มีลมโกรกเย็นๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี และในอนาคตก็จะสามารถขยายเป็นจุดขายและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยหลักการที่ใช้ในการบริหารคือต้องทำให้โรงพยาบาลน่าอยู่ทั้งสำหรับผู้ให้บริการและผู้ที่เข้ามาใช้บริการด้วย

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ “อุโมงค์ต้นไม้” เนื่องจากที่ผ่านมาต้นไม้ทึบ ลมไม่สามารถถ่ายเทผ่านไปได้ จึงได้ตัดต้นไม้ให้สูงขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เป็นช่องลม เมื่อลมพัดก็จะโกรก ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายร้อน ประหยัดพลังงานในโรงพยาบาล และยังช่วยให้สภาพแวดล้อมสวยงาม

สำหรับการให้บริการครอบครัว ได้ประสานไปยังกรมปศุสัตว์และวัดเพื่อขอพันธุ์กวาง นกยูง กระต่าย มาเลี้ยงและทำเป็นฟาร์ม และได้ขอองค์ความรู้มาจัดทำสิ่งปลูกสร้างให้เป็นบ้านดิน ซึ่งจะช่วยให้เด็กเล็กๆ ที่เข้ามากับพ่อแม่สนุกสนาน และได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน

“ต้องบอกว่าโรงพยาบาลมีแค่พื้นที่และกำลังคน แต่เราไม่มีองค์ความรู้ หรือ Knowhow ดังนั้นสิ่งที่โรงพยาบาลต้องการคือองค์ความรู้ ซึ่งหน่วยราชการในพื้นที่หรือองค์กรต่างๆ มีส่วนนี้อยู่มาก และเขาก็พร้อมจะถ่ายทอดให้เรา เมื่อเราประสานไปขอความร่วมมือหรือชักชวนมาร่วมทำโครงการก็ล้วนแต่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเสมอ” พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าว

พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีนโยบายจะทำโรงพยาบาลประหยัดพลังงาน เริ่มตั้งแต่ทำปุ๋ยจากเศษใบไม้ การเผาถ่านซึ่งสร้างรายได้ให้กับเจ้าหน้าที่เดือนละกว่าหมื่นบาท การทำไบโอแก๊ส และประสานกระทรวงพลังงานจัดทำโซลาร์ฟาร์ม