ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฐานข้อมูลสุขภาพ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันตรวจพบผู้ป่วยด้วยโรคเหตุใยหินแล้ว 28 ราย ในจำนวนนี้ป่วยเป็นมะเร็ง 26 ราย บางรายมีประวัติสัมผัสกับแร่ใยหินโดยตรง

ข้อมูลจากคณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ศึกษาข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพ (Health data center: HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างปี 2558-2559 โดยพบว่าสามารถยืนยันผู้ป่วยจากโรคเหตุใยหินได้แล้วถึง 28 ราย

สำหรับการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยโรคเหตุใยหินที่รายงานในฐานข้อมูล HDC เพื่อหาจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงและประวัติการสัมผัสใยหินจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมในผู้ป่วย ซึ่งพบรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินทั้งสิ้น 385 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็ง mesothelioma 243 ราย โรคปอด asbestosis และ โรคปอดหนา pleural plaque 142 ราย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพยาบาลอาชีวอนามัยดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของการลงรหัสโรค พบว่าเป็นการลงรหัสโรคผิด 262 ราย คิดเป็น 68% โดยสาเหตุการลงรหัสโรคผิดเกิดจากการใส่รหัสไม่ตรงกับโรคที่วินิจฉัย

ในส่วนของผู้ป่วยที่ลงรหัสถูกต้องจำนวน 123 ราย แบ่งเป็น mesothelioma 83 ราย โรคปอด asbestosis 30 ราย และโรคปอดหนา pleural plaque 10 ราย และเมื่อแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้องการวินิจฉัยโรคเหตุใยหินจากฐานข้อมูล HDC พบว่ามีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริงจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย

ทั้งนี้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง mesothelioma 26 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ 5 ราย แบ่งเป็นทำงานก่อสร้าง 4 ราย และผลิตกระเบื้องมุงหลังคา 1 ราย และมีผู้ป่วยด้วยโรคปอด asbestosis 1 ราย และ โรคปอดหนา pleural plaque 1 ราย โดยทั้งคู่มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินผ่านการประกอบอาชีพทั้งสิ้น

คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย

นอกจากนี้ จัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย

อนึ่ง คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้ถอดบทเรียนข้อจำกัดในการเฝ้าระวังเชิงรับผ่านระบบ HDC ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การลงรหัสผิดพลาด 2. การวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามแนวทางการวินิจฉัยโรค 3. ขาดการซักประวัติ

สำหรับข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหิน พบว่า ปี 2560 มีสถิติการนำเข้าสูงกว่า ปี 2559 ถึง 21.13% หรือจาก 33,896 ตัน เป็น 41,060 ตัน และคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 จำนวนการนำเข้าจะสูงกว่า 4 หมื่นตัน