ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายเภสัชกรขอนแก่นยื่นหนังสือเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ถอดร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ออกจากการพิจารณาของ ครม.เพื่อทบทวนใหม่โดยยึดหลักการคุ้มครองประชาชน ชี้ อย.ร่างกฎหมายโดยไม่ฟังความรอบข้าง

18 ตุลาคม 2561 ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น กลุ่มเภสัชกรจังหวัดขอนแก่น ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมและประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือให้กับ นายชำนาญ ทองดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งต่อข้อเสนอให้ระงับการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาระงับการพิจารณาพระราชบัญญัติยาฉบับนี้ และขอให้เกิดกระบวนการร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ด้วยหลักการและแนวคิดทางกฎหมายที่ถูกต้อง โดยยึดหลักการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้ยาอย่างแท้จริง

ภก.เผ่าพงศ์ เหลืองรัตนา แกนนำเครือข่ายเภสัชกรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จุดยืนของเภสัชกรจังหวัดขอนแก่นคือ ต้องการให้ถอดร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ฉบับนี้ออกจากการพิจารณา และนำร่างพระราชบัญญัติกลับมาทบทวนใหม่เท่านั้น เพราะที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการยกร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... และได้เปิดโอกาสให้แต่ละสภาวิชาชีพได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แล้วได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยที่ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการแก้ไขเนื้อหาตามที่แต่ละสภาวิชาชีพได้ให้ข้อเสนอแนะ ทั้งที่ได้มีการทักท้วงจากหลายหน่วยงานว่า มีการแก้ไขเนื้อหาหลายมาตราให้ต่างไปจากฉบับเดิม ซึ่งผิดไปจากหลักการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรฐานการปฏิบัติสากลที่ควรยึดถือปฏิบัติ ประกอบกับที่ผ่านมา อย.ได้พยายามร่างพระราชบัญญัติยาออกมาหลายฉบับ แม้จะพยายามสร้างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่ได้นำเอาข้อมูลจากการรับฟังนั้นมาปรับปรุงให้เหมาะสมเลย

ทั้งนี้ในหนังสือที่ยื่นต่อศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดขอนแก่น ระบุว่า กลุ่มเภสัชกรจังหวัดขอนแก่น ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมและประชาชนผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาและดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ระงับและไม่นำเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

2.ขอให้กระทรวงสาธรณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ที่ประกอบด้วย หน่วยงาน องค์กร และภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติยา เพื่อให้เป็นไปในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพ รวมไปถึงหลักปฏิบัติสากลอีกด้วย โดยกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาร่างไม่เกิน 1 ปี โดยทุกขั้นตอนขอให้มีการแจ้งเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนด้วย

และ 3. เมื่อร่างพระราชบัญญัติยาผ่านความเห็นจากสภาวิชาชีพแล้วขอให้เปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และดำเนินการอย่างรอบคอบ แล้วนำเอาความคิดเห็นกลับมาสู่การพิจารณาของคณะผู้ร่างพระราชบัญญัติยาอีกครั้ง เพื่อให้ปรับปรุงให้เหมาะสมต่อบริบทการบังคับใช้กฎหมายต่อไป