ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาในแวดวงสาธารณสุขและสุขภาพ ยังคงมีหลากหลายประเด็นที่เป็นกระแสข่าวเด่น โดยได้รับความสนใจในการติดตามและนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชน ทั้งมีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมเป็นวงกว้าง สำนักข่าว Health Focus ได้สรุป 10 ข่าวเด่นสาธารณสุข เพื่อให้ผู้อ่านได้ย้อนทบทวนสถานการณ์ข่าวในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ดังนี้

1.โยกย้าย ผอ.รพ.วุ่น หลัง หมอสุขุม เป็นปลัด สธ.คนใหม่ได้ 2 วัน

หลังจากที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนเก่า “นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข” เกษียณอายุราชการในปีนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้แต่งตั้งปลัด สธ.คนใหม่ มีแคนดิเดทคนสำคัญ คือ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ท้ายสุดผลออกที่ นพ.สุขุม ในฐานะผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด

ทันทีนั่งเก้าอี้ปลัด สธ.คนใหม่ 2 ต.ค.61 มีเหตุให้ นพ.ปิยะสกล ปวดหัวหนักจากโผโยกย้าย ผอ.รพ.ที่เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนัก มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รพ.ขึ้นป้ายคัดค้านพร้อมแต่งดำประท้วง เพราะมองว่าไม่เป็นธรรมและหนุนกลุ่มหมอแพทย์ชนบท โดยเฉพาะ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จาก ผอ.รพ.ชุมแพ ย้ายเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่น,นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา จาก นพ.สสจ.หนองคาย เป็น นพ.สสจ.ขอนแก่น, นพ.วชิระ บถพิบูลย์ จากรอง สสจ.นครราชสีมา เป็น นพ.สสจ.ชัยภูมิ โดย นพ.บรรพจน์ สุวรรณชาติ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ ถูกย้ายไปเป็น ผอ.รพ.เลย ถึงขั้นยื่นหนังสือลาออกจากราชการ

ความเคลื่อนไหวนี้ประกอบกับชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรม ผอ.รพศ./รพท.ออกโรงยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุขให้ทบทวน จน ปลัด สธ.คนใหม่ต้องเซ็นคำสั่งย้ายใหม่เมื่อวันที่ 8 ต.ค.61 ย้ายสลับ 4 ผอ.รพ. นพ.ชาญชัย จันทร์วร ชัยกุล ผอ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี กลับมาเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่น และให้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ขอนแก่น ไปเป็น ผอ.รพ.พระปกเกล้า นพ.ชุมนุม วิทยานันท์ ผอ.รพ.บึงกาฬ กลับมาเป็น ผอ.รพ.เลย และให้ นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผอ.รพ.เลย มาเป็น ผอ.รพ.บึงกาฬ

2.แก้ไข พ.ร.บ.ยา วุ่น

ในรอบปี 2561 ข่าวการแก้ไข พ.ร.บ.ยา นับว่าเป็นหนึ่งใประเด็นร้อนในแวดวงวิชาชีพสาธารณสุข จากเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ อย.ยกขึ้น มีส่วนกระทบต่อวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนวิชาชีพเภสัชกรที่คัดค้านในประเด็นเปิดให้วิชาชีพอื่นนอกจาเภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ เนื่องจากมองว่าการจ่ายยาเป็นวิชาชีพเฉพาะที่ต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านยา ทำให้เกิดอันตรายและไม่ปลอดภัยกับประชาชนได้ และปัจจุบันกฎหมายได้เปิดให้แพทย์ และทันตแพทย์จ่ายยาได้อยู่แล้ว ส่วนการจ่ายยาของวิชาชีพอื่นอนุญาตให้เป็นการจ่ายภายใต้การควบคุมโดยเภสัชกรหรือแพทย์ ขณะที่มีวิชาชีพอื่นๆ อาทิ พยาบาล หมออนามัย ต่างสนับสนุนเพราะเป็นการเอื้อต่อการปฏิบัติงานในหน่วยบริการ โดยเฉพาะที่ไม่มีเภสัชกรประจำ ทำให้มีกฎหมายรองรับ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเปิดช่องให้มีร้ายขายยา ขย.2 ที่ไม่มีเภสัชกรประจำเพิ่มขึ้น ทั้งที่ผ่านมาได้มีการจำกัดร้านยาประเภทนี้ การเปิดให้เภสัชกรสามารถปฏิบัติงานได้มากกว่า 1 แห่งเป็นต้น เรื่องนี้ร้อนถึง รมว.สาธารณสุข สั่งให้ อย.แก้ปัญหาด่วน โดยเชิญตัวแทนวิชาชีพต่างๆ หารือและได้ข้อสรุปตัดเนื้อหาในร่างกฎหมายที่เป็นปัญหาพร้อมตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อน ส่วนประเด็นที่ได้ข้อสรุปร่วมให้เดินหน้าต่อไป โดยนำเสนอต่อ ครม.แล้ว

อย่างไรก็ตามความวุ่นวายในการแก้ไข พ.ร.บ.ยาครั้งนี้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อให้กับภาคธุรกิจเอกชนในการเปิดร้านยาหรือไม่ด้วย

3.โรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนัก

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยได้มีการแพร่ระบาดหนักอีกครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย (ข้อมูล ต.ค. 61) ทั้งนี้สาเหตุของการแพร่ระบาดได้มีการพาดพิงไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สืบเนื่องปี 2558 ที่ สตง. ได้มีหนังสือท้วงติงเทศบาลสุรนารี จ.นครราชสีมาว่า การฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นอำนาจของ “กรมปศุสัตว์”ไม่ใช่อำนาจของเทศบาล อบต. หรือ อบจ.ทำให้ อปท.ยกเลิกการฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้าทันที โดยชะงักไปในช่วง 1-2 ปี เพราะเกรงถูกตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินผิดประเภท ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ต่างๆ ขณะที่กรมปศุสัตว์เองมีข้อจำกัดทั้งงบประมาณและบุคลากร ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดมาก

งานนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษีกาโดยตีความว่า อปท.มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าได้ ต่อมากรมส่งแสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้หารือประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแจ้งไปยัง อปท.ทั่วประเทศว่า ท้องถิ่นสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ ขณะเดียวกันด้วยกระแสนการโจมตีอย่างหนักต่อการทำหน้าที่ของ สตง. ส่งผลให้ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องออกมาชี้แจง

4.จ้างลูกจ้างเงินนอกงบประมาณ ต้องขออนุมัติ ก.คลังก่อน

เกิดความวุ่นวายทันทีหลังกระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างที่ใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ และในกรณีจำเป็นต้องจ้างให้ขออนุมัติการจ้างจากกระทรวงการคลังก่อน ลงนามโดย นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ซึ่งเป็นการดำเนินการอ้างอิงตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เรื่องการอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้มีระเบียบเกี่ยวกับการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงาน

งานนี้เรียกว่ากระทบต่อกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง เนื่องจากการดำเนินงานของหน่วยบริการภายใต้สังกัดทั่วประเทศ บุคคลกรที่ปฏิบัติงานอยู่มีจำนวนไม่น้อยเป็นลูกจ้างเงินงบประมาณ ซึ่งงานด้านสุขภาพจำเป็นต้องใช้กำลังคนในการดูแลประชาชน ดังนั้นงานนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข จึงออกโรงเอง นำผู้บริหาร สธ. และตัวแทนผู้บริหาร รพ.ทุกระดับ เข้าหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังเลื่อนการใช้ประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน เพราะในรายละเอียดยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก และในการออกประกาศฉบับใหม่จะมีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือก่อน

5.ขึ้นค่าปรับ “หมอไม่ทำงานใช้ทุน”

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวที่น่าสนใจในรอบปีนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีแพทย์จบใหม่จำนวนไม่น้อยที่เลือกลาออกจากระบบภายหลังจากเรียนจบ โดยยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 4 แสนบาท แทนการทำงานใน รพ.สังกัด สธ.เพื่อใช้ทุน 3 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเงินจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้แพทย์ อัตราค่าครองชีพ และงบรัฐบาลที่ได้ลงทุนเพื่อผลิตแพทย์ เฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อปี รวมระยะเวลาการเรียน 6 ปี เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท และยังมีงบลงทุนอื่นๆ รวมงบใช้งบผลิตแพทย์ 4 ล้านบาทต่อคน ทำให้มีแพทย์จบใหม่จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะจ่ายค่าปรับแทน

ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา จึงมีข้อเสนอให้มีการเพิ่มค่าปรับสำหรับแพทย์ที่ไม่ยอมใช้ทุน โดยจากการประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ได้มีการเสนอให้เพิ่มค่าปรับเป็น 5 ล้านบาทต่อคน อย่างไรก็ตามต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ.ขณะนั้น ได้พิจารณาและเห็นชอบให้เพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ใช้ทุนเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2562 นี้

6.ป.ป.ช.ออกประกาศแสดงบัญชีทรัพย์สินพ่นพิษ สะเทือนบอร์ดองค์การมหาชน

ต้องบอกว่าทำให้บอร์ดองค์การมหาชนปั่นป่วนอย่างหนัก ทันทีที่ ป.ป.ช.ออกประกาศบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ องค์กรมหาชน ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน โดยรวมถึงภรรยาที่ไม่จดทะเบียน และลูกด้วยนั้น ทำเอากรรมการบอร์ดองค์กรมหาชนทั้งหลาย ทั้งในภาคการศึกษาและสุขภาพตบเท้าลาออกเป็นแถว

โดยในส่วนบอร์ด สปสช.มีกรรมการประกาศลาออกทันที 4 คน ขณะที่มีบอร์ดองค์กรในระบบสุขภาพยื่นใบลาออกเช่นกัน ทั้งที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งภายหลัง คสช. ได้ออกประกาศยกเว้นบอร์ดองค์การมหาชนและสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช.ฉบับดังกล่าว

7.ผอ.องค์การอนามัยโลก ดูงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย-พล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับเท็จให้ข้อมูลบัตรทองมั่ว

นับเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้นำองค์กรสุขภาพของโลก “นายทีโดรส อัดฮานอม” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และลงพื้นที่ ซ.พระเจน ชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. เยี่ยมบ้านผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง

ทั้งนี้ยังได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่กล้าหาญสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนในขณะที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา สิ่งนี้ยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวยคุณก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้เดินทางมาประเทศไทยเช่นกัน โดยเข้าหารือเพื่อเตรียมลงนามความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดผลสำเร็จ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย” ให้โลกเรียนรู้

ขณะที่โลกโซเชียลก็ร้อนฉ่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 28 ก.ย.61 พูดถึงข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง โดยเพจ Gossipสาสุข เป็นรายแรกที่ระบุว่า ข้อมูลที่นำมาพูดเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ขายยา และเป็นข้อมูล มั่ว โดยระบุว่า ทีมงานที่เตรียมข้อมูลคงจะ search กูเกิลโดยใช้คำว่า ข้อเสียบัตรทอง เพื่อมาพูดในรายการ แต่ข้อมูลกลับมั่วทั้งหมด ร้อนถึง สธ.และ สปสช.ที่ต้องออกมาแก้ไขภายหลัง

8.เพิ่มค่าตอนแทน อสม.พันบาท, แจกค่ารถไปหาหมอให้ผู้สูงอายุ 65 ปี

จากนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลสวัสดิการให้กับประชาชน หนึ่งในสิทธิประโยชน์บัตรคนจนที่ใช้งบประมาณกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท นอกจากแจกเงิน 500 บาทให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจน 14.5 ล้านคน พร้อมช่วยค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟแล้ว ยังดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ โดยมอบเงินให้กับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 บาท เพื่อใช้สำหรับเป็นค่าเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาล ซึ่งสัดส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจนมีราว 3.5 ล้านคน

นอกจากนี้ในปีนี้รัฐบาลยังได้อนุมัติการเพิ่มค่าตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก อสม.มีการปรับเปลี่ยนงานและภาระงานเพิ่มขึ้น แต่ค่าตอบแทนยังคง 600 บาทตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ให้เริ่มในเดือนธันวาคม 2561 ปัจจุบันตัวเลข อสม.ทั่วประเทศอยู่ที่ 1,054,729 คน แบ่งเป็นส่วนที่อยู่ต่างจังหวัด 1,039,729 คน กรุงเทพมหานคร 15,000 คน โดยประมาณ และที่ผ่านมา ใช้งบประมาณสำหรับจ่ายค่าตอบแทน อสม. 4,218 ล้านบาท หลังปรับค่าตอบแทนนี้ งบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,656 ล้านบาท

จากนโยบายแจกเงินนี้ รัฐบาลถูกมองว่าเป็นนโยบายใช้เพื่อหาเสียงเพราะใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง

9.สธ.ออกประกาศ “ห้ามไขมันทรานส์” ในไทย เริ่ม 9 ม.ค. 62

นับเป็นข่าวดีต่อสุขภาพประชาชนที่สุดในรอบปี 2561 จากการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย” มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2562 นี้ โดยมีเสียงตอบรับจากทุกภาคส่วน ซึ่งไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตอาหารหลากหลาย อาทิ เบอร์เกอรี่ชนิดต่างๆ นมข้น ครีมเทียม เป็นต้น เป็นที่ทราบกันดีโดยมีหลักวิชาการรองรับว่า ไขมันทรานส์ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งองค์การอนามัยโลกยังถือเป็นวาระสำคัญที่ให้ทุกประเทศร่วมกันแก้ไข และหลายประเทศได้มีการออกกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจอาหารและอุตสาหกรรมอาหารจะได้มีการพัฒนาเพื่อการผลิตอาหารโดยไม่ใช้ใชมันทรานส์แล้ว แต่หลังประกาศฉบับนี้มีผลคงต้องรอติดตามการบังคับใช้ทางกฎหมาย เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสในการเพิ่มราคาสินค้า ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หน่วยงานทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายนี้จะต้องมีมาตรการติดตามและประเมินเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจในคนไทย

10.หมอพยายาบาลรีวิวสินค้า- อย.ขยายผลจับ เมจิกสกินส์

กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวดังในรอบปี เมื่อ อย.ร่วมกับตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกจับแหล่งผลิตและจำหน่ายอาหารเสริม รวมทั้งเครื่องสำอางผิดกฎหมายของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ที่ จ.นครราชสีมา หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโฆษณาเกินจริง หลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงซื้อ เช่น ทำให้ผิวขาวใส บำรุงผิวพรรณ ชะลอไม่ให้ผิวหนังแก่ก่อนวัย บางรายกินแล้วเกิดอาการมือสั่น ใจสั่น คอแห้ง นอนไม่หลับ ทั้งยังใช้เลข อย.ปลอม สินค้าไม่ตรงกับฉลาก และต่อมามีการขยายผลจับกุมแหล่งจำหน่ายเพิ่มเติม

สาเหตุที่กลายเป็นข่าวดัง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ว่าจ้างทั้งดารานักแสดงชื่อดังและเน็ตไอดอลมากมายเป็นพรีเซ็นเตอร์รีวิวผลิตภัณฑ์ในเครือที่หน้าเพจสินค้าและอินสตาแกรมส่วนตัว จนทำให้เกิดความแพร่หลาย งานนี้ถูก อย.และเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญสอบปากคำ ทั้งยังถูกตั้งข้อหาโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ส่งผลดารานักแสดงและเน็ตไอดอลต้องระมัดระวังการรับรีวิวสินค้าไปตามกัน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความถึง 908 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 289 ล้านบาท

ในปีเดียวกันนี้ยังมีวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และนักสาธารณสุข เป็นต้น แห่ร่วมรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านเฟสบุ๊ก อาทิ อาหารเสริม ครีมทาผิว เป็นต้น โดยเฉพาะอาหารเสริมยี่ห้อดัง Lyn ที่ อย.ตรวจจับเนื่องจากพบส่วนผสมยาถ่ายกับไซบูทรามีนที่ออกฤทธิ์กดประสาทไม่ให้หิว จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างหนัก เนื่องจากต่างเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งยังกระทบต่อวิชาชีพ ทางสภาวิชาชีพ ทั้งแพทยสภา สภาการพยาบาล และอื่นๆ ต่างออกมาเตือนพฤติกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมทางการแพทย์ และอาจถูกดำเนินคดี หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานหรือได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง