ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.สุขุม” เน้นย้ำคุณภาพบริการเพื่อสร้างความยอมรับ ชี้ บุคลากร สธ.ช่วยร่วมกับทุกภาคส่วนสร้างความน่าเชื่อถือกับประชาชนในโรงพยาบาลทุกระดับ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในหัวข้อ “ถ่ายทอดแนวคิด : คุณภาพกับความท้าทายในโลกอนาคต” ภายในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า เป้าหมายของคุณภาพที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนและบุคลากรที่จะทำให้งานต่างๆ ดีขึ้นมาได้ โดยปัจจุบัน สธ.ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน HA ที่โรงพยาบาลจะต้องผ่านทั้ง 100% ซึ่งข้อมูลปี 2561 พบว่าโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปผ่าน HA เกือบ 100% ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนก็ผ่านมาตรฐานแล้วประมาณ 70%

“มีคนพูดกันว่ามาตรฐาน HA ทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่าก็จำเป็นต้องเพิ่มหากสามารถทำให้ประชาชนยอมรับ มีความมั่นใจในโรงพยาบาล” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า สิ่งที่อยากเน้นในเรื่องคุณภาพก็คือความเปลี่ยนแปลง เพราะการที่เราแตกต่างขึ้นมานั้นจะทำให้เราเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยผู้ที่จะทำให้เกิดคุณภาพที่ดีได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่บุคลากรในระบบสุขภาพเพียงอย่างเดียว แม้ว่าบุคลากรในระบบสุขภาพจะสามารถเริ่มก่อนได้แต่ก็ต้องเป็นไปโดยไม่ใช่การบังคับ หากแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือระหว่างบุคลากรในโรงพยาบาล ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้บริหารระดับเขต ผู้บริหาร สธ. ตลอดจนฝ่ายการเมือง และที่ขาดไม่ได้เลยคือผู้มารับบริการ ผู้ป่วย ชุมชน

“สิ่งที่เราจะทำให้เกิดคือแนวทางเวชปฏิบัติต่างๆ ของวิชาชีพต่างๆ ซึ่งต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน นั่นเพราะทุกวันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลง ความรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะแต่กับหมอหรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังอยู่ใน google ซึ่งเมื่อผู้ป่วยหาข้อมูลโรคต่างๆ มา แล้วเราตอบไม่ได้ ถามว่าเราจะมีคุณภาพหรือไม่ นั่นหมายความว่าเมื่อคนไข้ถามมา เราต้องตอบให้ได้ด้วยว่าอะไรคือความจำเป็นสำหรับโรคนี้ มีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง กี่แบบ อะไรคือมาตรฐานและสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้ในแต่ละราย ไม่ใช่เพียงแค่การตัดสินใจโดยแพทย์และพยาบาล แต่ต้องอาศัยการพูดคุยกับคนไข้ด้วย” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า สิ่งที่คาดหวังจากคุณภาพก็คือความไว้วางใจจากประชาชน ดังนั้นโจทย์คือในวันนี้เราจะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดกับโรงพยาบาลสังกัด สธ. ได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลราชวิถี ที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ หากเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเหล่านี้จริงๆ ก็เข้าใจกันว่าเพราะถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นถ้าเราทำให้เกิดความน่าเชื่อลงไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชนได้ ประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจว่าเข้าโรงพยาบาลไหนก็ปลอดภัยเช่นกัน เพราะมีระบบคุณภาพรับรอง

“อยากให้สร้างความไว้วางใจว่าเข้าไปโรงพยาบาลแล้วไม่ตาย เข้าไปแล้วปลอดภัย มีคนดูแล สะดวก มีคุณภาพ มีประสิทธิผล นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในหน่วยบริการของ สธ.” นพ.สุขุม กล่าว และว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบายเรื่องจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ สร้างความเชื่อมโยงของระบบปฐมภูมิ ที่สำคัญคือทั้งหน่วยบริการระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ จะเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทั้งการส่งต่อผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุ อาหารปลอดภัย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงเป็นของทุกคน