ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองผู้อำนวยการ อภ. เผยปัจจุบันได้อำนวยความสะดวกผู้ป่วยไตวายด้วยการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านไม่ต่ำกว่า 27 ล้านถุง ยืนยันระบบจัดส่งมีคุณภาพตรวจสอบได้ พร้อมกันนี้เตรียมพัฒนา Application ให้ผู้ป่วยติดตามการจัดส่งได้เอง

ภก.พิพัฒน์ นิยมการ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อภิปรายในงานเสวนาเรื่อง “แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร” ภายใต้งานประชุมสัมมนาเรื่อง “ถอดบทเรียนการส่งยาทางไปรษณีย์จากโรงพยาบาลรัฐถึงผู้ป่วยกับมาตรฐานวิชาชีพ” จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า ผู้ป่วยไตวายที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องนั้น จะต้องใช้น้ำยาล้างไตวันละ 4 ถุง หรือเดือนละ 120 ถุง โดยแต่ละถุงมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม นั่นจะเป็นภาระของคนไข้หากต้องเดินทางมารับน้ำยาล้างไตที่โรงพยาบาล ดังนั้น อภ.จึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำโครงการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

สำหรับการดำเนินโครงการในระยะแรก มีผู้ป่วยประมาณ 300 ราย ใช้บริษัทเอกชนทำการขนส่ง เมื่อผ่านไป 2-3 ปี บริษัทเอกชนได้ขอปรับเพิ่มค่าขนส่งขึ้น ทำให้ในปี 2554 ทาง อภ.และ สปสช.จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยและพัฒนาระบบการขนส่งร่วมกันมา จนกระทั่งปี 2558 บริษัทไปรษณีย์ไทยได้ตั้งบริษัทลูกชื่อบริษัทไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ขึ้นมาดำเนินการภารกิจจัดส่งน้ำยาล้างไตโดยเฉพาะ นั่นยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการขนส่งดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากปี 2551 ที่มีผู้ป่วยประมาณ 300 ราย ข้อมูลปี 2561 พบว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นราย ปริมาณน้ำยาล้างไตที่ส่งอยู่ที่ปีละ 27 ล้านถุง โดยปัจจุบันบริษัทที่จัดส่งได้จัดตั้งศูนย์จัดเก็บและจัดส่งน้ำยาล้างไตสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินจำนวน 10 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ นั่นทำให้ผู้ป่วยไม่ขาดแคลนน้ำยาแต่อย่างใด

ภก.พิพัฒน์ กล่าวถึงการพัฒนาระบบการขนส่งว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการพัฒนาและสร้างระบบการส่งน้ำยาล้างไตถึงผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดตามการขนส่งด้วยระบ GPS มี Application เพื่อแจ้งสถานการณ์ขนส่ง มีการติดต่อประสานงานกับผู้ป่วยเพื่อแจ้งส่งน้ำยาล้างไตก่อนนำส่ง มีการติดตามสถานการณ์นำส่งด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้ที่ไปส่งมีการนับน้ำยาคงเหลือที่บ้านผู้ป่วยเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยได้ล้างไตอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

“น้ำยาล้างไตก็ถือว่าเป็นยาชนิดหนึ่ง การจัดเก็บจึงมีความสำคัญ ดังนั้นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม ทางบริษัทได้จัดหาคลังยาและรถที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ระหว่างจัดส่ง และแต่ละศูนย์มีการสำรองไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดย อภ. และบริษัทฯ ได้ร่วมกันใช้ระบบคอมพิวเตอร์ระบบเดียวกัน ทำให้ทราบถึงสถานะต่างๆ ของน้ำยาแบบ real time และหน่วยบริการสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ตลอดเวลา” ภก.พิพัฒน์ กล่าว

ภก.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในเมื่อน้ำยาล้างไตเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยขาดไม่ได้ และต้องได้รับอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สม่ำเสมอ ทาง อภ.จึงได้จัดทำระบบติดตามและเปิด call center ให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อประสานกลับมาได้ และในปี 2562 จะมีการพัฒนา Application ให้ผู้ป่วยสามารถติดตามการจัดส่งได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสามารถสะท้อนความคิดเห็น ข้อเสนอ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงการบริการต่อไป