ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขาเปรียบ “โรงพยาบาล” เหมือนกับ “โอเอซิส” กลางทะเลทราย ที่ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในผืนดินแห้งแล้งแห่งหนใด เหล่านักแรมทางก็จะขวนขวายแสวงหาเพื่อแนบอิง

ตามมุมมองของเขาแล้ว ทุกวันนี้ประเทศไทยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่เฉพาะในพื้นที่ที่เจริญแล้วเท่านั้น ส่วนรอบนอกแห้งกรัง

จึงไม่แปลกที่คนจะหลั่งไหลเข้าไปกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง

จึงไม่แปลกที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะแออัด และบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องเผชิญกับสถานการณ์ workload

“เราเก็บเงินภาษีจากคนทั่วประเทศ แต่เงินภาษีเหล่านั้นกลับไปกระจุกตัวอยู่แต่กับการพัฒนาของเมืองใหญ่ ผมคิดว่าชาวบ้านในชนบทที่จ่ายภาษีก็ควรได้รับผลจากการพัฒนาโดยเงินภาษีของเขา เราควรนำทรัพยากรในส่วนนั้นมาจัดการในพื้นที่ด้วย”

นพ.อานนท์ สาธรวิริยะพงศ์

นั่นคือวิธีคิดของ นพ.อานนท์ สาธรวิริยะพงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลมะการักษ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมองว่าระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) และการป้องกันโรค (Prevention) คือทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพที่สำคัญถัดจากนี้

ระบบบริการปฐมภูมิ คือ “โอเอซิส” ที่จะนำมาซึ่งความชุ่มฉ่ำและชุ่มชื่นในทุกๆ ตารางนิ้ว

ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะก้าวไปสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ภาพที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น สัดส่วนการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้น และโรงพยาบาลก็จะต้องแบกรับภาระหนักเป็นเงาตามตัว

“เราไม่สามารถหยุดอายุที่เพิ่มขึ้นของคนได้ เราไม่สามารถหยุดจำนวนความเจ็บป่วยได้ แต่เราสามารถชะลอความเร่งเหล่านั้นได้ด้วยระบบบริการปฐมภูมิและการป้องกันโรค”

เขาหมายถึง หากทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงบริการปฐมภูมิ การรักษาพยาบาลเบื้องต้น หรือได้รับการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมสามารถยืดช่วงเวลาที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ยาวนานออกไปได้

“ถ้าระบบยังเป็นรวมศูนย์อยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างเช่นทุกวันนี้ ในอนาคตผู้ที่รับภาระหนักก็คือโรงพยาบาลขนาดใหญ่เหล่านั้น”

“เพราะเมื่อคนไข้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาปฐมภูมิ เขาก็จะรอไปจนถึงจุดหนึ่งที่เขาทนไม่ไหว จุดที่ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายเขาก็จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่อยู่ดี และนั่นคือผลกระทบต่อระบบในอนาคต”

ที่สุดแล้ว สหวิชาชีพและบุคลากรสาธารณสุขก็จะต้องแบกรับภาระงานที่เพิ่มขึ้น แพทย์เฉพาะทางก็จะต้องกลับมาตรวจโรคที่สามารถป้องกันได้ ปัญหา workload ก็จะตกอยู่ในวังวนไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ อย่างที่ทราบดีว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยทั้งหมดนี้ให้ความครอบคลุมประชากรในประเทศไทยราวๆ 99.6%

นั่นหมายความว่า ประชาชนเกือบทั้งหมดของประเทศนี้ มีหลักประกันว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะได้รับการรักษาพยาบาลตาม “สิทธิ” อันพึงมี

อย่างไรก็ดี แม้จะมีสิทธิกันถ้วนหน้า หากแต่ “การเข้าถึงการรักษา” กลับยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

ระบบบริการปฐมภูมิจึงเป็นทางออก ถนนทุกเส้นจึงมุ่งหน้ามาที่นี่อีกเช่นเคย

เขา บอกว่า “คลินิกหมอครอบครัว” (Primary Care Cluster : PCC) มีส่วนช่วยหนุนเสริมเรื่องการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้ป่วยหลายรายอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีปัญหาเรื่องการเดินทาง ดังนั้นถ้ามี PCC ที่ครอบคลุม ย่อมสามารถอุดจุดอ่อนในเรื่องนี้ไปได้

แน่นอนว่า PCC ต้องทำงานลงลึกในระดับชุมชน ขณะที่นักเรียนแพทย์ “เวชศาสตร์ครอบครัว” ที่เพิ่งจบใหม่ๆ ก็มักได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ใน PPC ด้วยเช่นกัน “นพ.อานนท์” มองว่า ในอนาคตหากเป็นไปได้ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ PCC ควรเป็นแพทย์ที่มีความสัมพันธ์กับชุมชน หรือเป็นคนในชุมชน ซึ่งจะมีความเข้าใจพื้นที่และเข้าใจบริบทด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน

“ทุกวันนี้ประเทศไทยมีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอ เปิดโอกาสให้แพทย์ที่เรียนมาในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวได้เข้ามาฝึกงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปเพื่อรองรับระบบปฐมภูมิที่เป็นหัวใจสำคัญของอนาคต” นพ.อานนท์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีกำลังในการผลิตแพทย์เพิ่ม แต่สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้แพทย์ที่จบออกมาแล้วยังอยู่ในพื้นที่หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือจะทำอย่างไรให้แพทย์เหล่านั้น “อยู่ในระบบ” ต่อไป

ด้วยภาระงานที่หนักหนาสากรรจ์ ประกอบกับความไม่คุ้นชินในพื้นที่ วิถีความเป็นอยู่ที่แตกต่าง หรือบริบทเฉพาะของชุมชนแต่ละแห่ง ได้สร้างความอึดอัดและความรู้สึกแปลกแยกระหว่างการปฏิบัติงานของแพทย์ใหม่ส่วนหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เขาเหล่านั้นจึงตัดสินใจลาออกไป

“ประเด็นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือรายได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าแพทย์ที่เรียนจบแล้วเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางนั้นจะมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าเมื่อเรียนจบแพทย์มาแล้วก็อยากจะเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งแน่นอนว่าตรงนี้ไม่ใช่เรื่องผิด

“ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้แพทย์ที่จบมาใหม่เหล่านั้นมีรายได้ที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งจะทำให้อยู่ในระบบมากขึ้น”

คุณหมออานนท์ เสนอว่า แนวทางหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือการทำให้แพทย์มีความสัมพันธ์กับชุมชน แพทย์ในอนาคตอาจจะเป็นคนที่ชุมชนคัดเลือกขึ้นมาโดยไว้วางใจว่าบุคคลนี้จะสามารถดูแลสุขภาพของคนในชุมชนได้ คือถ้าแพทย์มีความผูกพันและรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เขาจะทำงานได้อย่างมีความสุขและอยู่ในชุมชนได้นานขึ้น

“ต้องมีระบบที่มาสนับสนุนให้แพทย์ที่คิดว่าจะมาทำงานในชุมชนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคง สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ตัวเองมีต่อไปได้ เช่น อาจมีระบบสนับสนุนให้แพทย์สามารถทำงานวิจัยในชุมชน

“ผมคิดว่าเรื่องการผลิตนั้น มีการวางแผนกันอยู่แล้วว่าอีก 10-20 ปี เราจะได้แพทย์ออกมาจำนวนเท่าใด แต่เราจะเก็บคนที่ผลิตออกมาไว้ในระบบได้อย่างไร

“ถ้ามีการปลูกฝังทัศนคติตั้งแต่สมัยเรียนเป็นแพทย์ว่า เมื่อจบออกมาแล้ว เข้าสู่ชุมชนแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง คือต้องทำให้นักศึกษามีความเข้าใจต่อชุมชนมากขึ้น เพราะเมื่อเขาไม่เข้าใจว่าชีวิตในชุมชนเป็นอย่างไร การทำงานในชุมชนเป็นอย่างไร ก็อาจนำไปสู่ความกลัวที่จะทำงานกับชุมชน”

“อย่างที่รู้ว่าโรงเรียนแพทย์จะกระจายอยู่ตามจังหวัดที่มีความเจริญ โอกาสที่นักศึกษาจะสัมผัสกับชุมชนจริงๆ จึงมีน้อย แต่ในช่วงหลังมานี้สถานการณ์ดังกล่าวก็ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก คือมีการส่งนักเรียนแพทย์ไปฝึกงานตามโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น ก็มีโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ในจุดนั้นมากขึ้น

“นี่คือการสร้างโอกาสให้นักเรียนแพทย์ได้เรียนรู้ก่อน ทำให้เขาเห็นสภาพความเป็นจริงของชุมชนว่าเป็นอย่างไร เขาชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพราะความรู้คงไม่ได้จำกัดอยู่ในโรงเรียนได้อีกแล้ว การกระจายนักศึกษาออกไปสู่พื้นที่รอบนอก ทำให้เขาได้เห็นชีวิตและการทำงานมากขึ้น”

นพ.อานนท์ เชื่อว่า การให้ภาพความเป็นจริงอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาศึกษาในโรงเรียนแพทย์ จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง