ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร ชง กทม.จัดตั้งกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน สร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ส่งเสริมพลังบวกอย่างเป็นรูปธรรม พ้อพรรคการเมืองไม่ฟังเสียง ไม่จริงใจแก้ปัญหาเด็กเยาวชน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 เวลา13.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร อาทิ เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายบางกอกดีจัง เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ฯลฯ ยื่นหนังสือต่อ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอปัญหาเด็กและเยาวชน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร จัดตั้งกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน สร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

นายวันชัย พูลช่วย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม กล่าวว่า ก่อนหน้าที่เครือข่ายฯได้มีเวทีส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง รวมถึงนโยบายการจัดตั้งกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล หรือมีท่าทีใดๆ จากพรรคการเมืองแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง แสดงให้เห็นว่าบรรดาพรรคการเมืองต่างไม่ฟังเสียงเด็กและเยาวชน ไม่มีความไม่จริงใจ ทั้งที่ปัญหาผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญเป็นเรื่องใหญ่มาก เช่น การคุกคามทางเพศ ท้องก่อนวัยอันควร ปัญหายาเสพติด ติดการพนัน นักดื่มหน้าใหม่ อุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้สื่อโซเชียลมีเดียและปัญหาพื้นที่เสี่ยง

“ภาพรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ พบว่าอายุต่ำกว่า18 ปี กว่า 30,000-50,000 คนต่อปี ก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ เกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด และเด็กเกือบหมื่นคนต่อปีต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการก่อคดี, มีเด็กและเยาวชนติดยาเสพติด มากกว่า 300,000 คนต่อปี, มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปี, เด็กและเยาวชนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510 บาดเจ็บและพิการอีกนับไม่ถ้วนนอกจากนี้ยังพบว่าเด็กและเยาวชนเล่นพนัน3.6 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ยอมรับว่าติดพนัน กว่า 400,000 คน, อีกทั้งปัญหาความรุนแรงทางเพศในเด็กและเยาวชนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ซึ่งช่วงอายุของผู้ถูกกระทำ 60.6% เป็นกลุ่มอายุ 5-20 ปี พบผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน ผู้ก่อเหตุกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว, ในยุค 4.0 พบว่าเด็กไทย อายุ 8-12 ปี ใช้เวลากับหน้าจอ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 73% คือสมาร์ทโฟน การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า 19% ติดเกม12% และถูกล่อลวงจากคนแปลกหน้า 7% ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ที่มีเด็กและเยาวชนอาศัยอยู่จำนวนมาก สภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหาร กทม. ต้องสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง” นายวันชัยกล่าว

นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครยังมีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 437 โรงเรียน โดยมียุทธศาสตร์เชิงรุกในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นทักษะการคิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติ ถือเป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันที่นี่ก็มีเด็กนอกระบบการศึกษา เด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากอยู่ด้วยเช่นกัน เครือข่ายจึงมีข้อเสนอ เพื่อนำไปพิจารณาดังนี้

1. ขอให้กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และบูรณาการการทำงานกับโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 โรงเรียน เพื่อเสริมสร้างความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนกำหนดให้สถานศึกษาดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดพื้นที่ให้องค์กรภาคประชาชนมีสวนร่วมและเข้าไปสนับสนุนการทำงานร่วมกับโรงเรียน กทม.

2. ขอให้กรุงเทพมหานคร มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เยาวชนนอกระบบการศึกษา สนับสนุนการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ต่อเนื่อง

3. ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งจัดตั้ง “กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน” เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มในทางสร้างสรรค์ พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เห็นศักยภาพในตัวเอง สร้างความเข้มแข็ง ทักษะชีวิต และส่งเสริมพลังเยาวชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมที่มีคุณภาพด้วยตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยขอให้เป็นกองทุนที่เป็นอิสระเข้าถึงง่าย ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการที่จะกลายมาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ดีใจที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้กล้าลุกขึ้นมาทำเพื่อสังคม มีความคิดเป็นห่วงเพื่อนๆในวัยเดียวกัน เนื่องจากปัญหาของเด็กเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ บางคนต้องอยู่กับพ่อแม่ที่ค้ายาเสพติด ติดเหล้า ติดพนัน มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอของเด็กเยาวชนและอยากให้เกิดเป็นรูปธรรม หลังจากนี้จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละสำนักว่าพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง และจัดสรรงบสนับสนุนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ซึ่งเชื่อว่าผู้ว่าฯ เห็นด้วย กับการทำกิจกรรมที่ดีแบบนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง