ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แพทยสภา” เปิดผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาล พบเพียง 10 วัน มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1,700 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 62.2% ที่ได้เผชิญกับเหตุรุนแรงด้วยตัวเอง ด้านเลขาธิการแพทยสภา เรียกร้องมาตรการ “ห้องฉุกเฉินปลอดคนเมา”

นพ.ภาสกร วันลัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา นำเสนอข้อมูลแบบสำรวจเรื่องความปลอดภัยของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล ภายใต้การประชุมเสวนาเรื่องปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จัดขึ้นโดยแพทยสภา สภาการพยาบาล แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า จากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20-30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่าระยะเวลาเพียง 10 วัน มีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 1,726 ราย ในจำนวนนี้ 83% เป็นเพศหญิง โดยประเด็นที่น่าสนใจคือใน 1 ปี มีผู้ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สิน รวมแล้ว 62.2%

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ที่ไม่เคยพบเจอเหตุการณ์ความรุนแรง จำนวน 37.8% ผู้ที่เคยพบ 1-3 ครั้ง จำนวน 51.5% ผู้ที่เคยพบ 4-6 ครั้ง จำนวน 4.6% และผู้ที่เคยพบมากกว่า 6 ครั้ง จำนวน 6.1% โดยทั้งหมดนี้ไม่รวมการถูกทำร้ายด้วยวาจาหรือการด่าทอ ข่มขู่ ส่วนระดับความรุนแรงพบว่ามีถึง 26.9% ที่ระดับความรุนแรงถึงขั้นต้องสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต ขณะที่อีก 48.4% ระดับความรุนแรงปานกลาง

“ผู้ตอบแบบสอบถาม 96% เห็นว่าสุราเป็นสาเหตุของความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน และ 97.2% เห็นด้วยว่าต้องประกาศให้ห้องฉุกเฉินเป็นเขตปลอดคนเมาสุรา” นพ.ภาสกร กล่าว และว่าผลการสำรวจชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการจำคุก 5 ปี แก่ผู้ที่ขู่ทำร้ายจะช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินได้ นอกจากนี้มีบุคลากรผู้ให้บริการมากถึง 54.9% ที่มองว่าปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาลมีผลต่อการตัดสินใจลาออกจากหน่วยงาน โดยผู้ที่อยากลาออกมากที่สุดคือแพทย์ รองลงมาคือพยาบาล

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวในหัวข้อ “แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาล” ว่า สิ่งที่แพทยสภาอยากให้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาลมีด้วยกัน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. สังคมรับรู้ปัญหาและมีมาตรการร่วมกันปกป้องสถานพยาบาล 2. ขอให้ชุมชน ตำรวจ อาสาสมัคร ช่วยกันดูแลปกป้องห้องฉุกเฉินในยามเทศกาล 3. ขอให้ สธ.มีมาตรการเพื่อป้องกันคนเมาหรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในเขตห้องฉุกเฉินยกเวลาคนป่วย 4. มาตรการทางกฎหมายคือกำหนดให้ห้องฉุกเฉินเป็นเขตปลอดคนเมาสุรา

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ทุกวันนี้มีมาตรการทางกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้าโรงพยาบาลติดป้ายแสดงโทษเอาไว้ เช่น ถ้าเป็นพื้นที่ห้ามเข้าแต่ยังเข้าไประวางโทษจำคุก 1 ปี หรือบุกรุกเข้าห้องฉุกเฉินระวางโทษจำคุก 5 ปี แต่ถ้าถือมีดเข้าไปด้วยจะกลายเป็นระวางโทษ 12 ปี ก็น่าจะเป็นมาตรการเชิงป้องปรามที่ดีอย่างหนึ่ง

“จากสถิติที่แพทยสภาเก็บรวบรวมจากบุคลากร 1,700 ราย พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งได้เจอกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์แล้ว ขณะเดียวกันพบว่า 97% เห็นด้วยว่าไม่ควรให้คนเมาเข้ามายังห้องฉุกเฉินเพราะไม่ทราบว่าเขาจะทำอะไรบ้าง และอยากฝากไว้ว่าหมอพยาบาลรักษาชีวิตคนไข้ อยากให้สังคมช่วยรักษาชีวิตพวกเราด้วย” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง