ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นางรวินันท์ ทองขาว พยาบาลวิชาชีพ คลินิกรู้จิต รักษ์ใจ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 68,385 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก 62,700 คน ผู้ป่วยใน 5,685 คน ในภาพรวมผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามาด้วยอาการป่วยทางจิตเภทมากที่สุด รองลองมา คือ ซึมเศร้า ไบโพลาร์ ตามลำดับ

ส่วนของคลินิกรู้จิต รักษ์ใจ จะทำหน้าที่บำบัดร่วมกับการรักษา โดยมีจิตแพทย์เป็นผู้ส่งต่อผู้ป่วยมาที่คลินิกรู้จิต รักษ์ใจ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีผู้ป่วยทางจิตเวชที่ถูกส่งตัวมาเฉลี่ยเดือนละ 60-80 คน ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ และจิตเภท ตามลำดับ

รวินันท์ ทองขาว

นางรวินันท์ หรือพี่เปิ้ลของผู้ป่วย เล่าว่า คลินิกรู้จิต รักษ์ใจแห่งนี้ เป็นหนึ่งในคลินิกอีกหลายคลินกในโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่คลินิกแห่งนี้จะทำการบำบัดผู้ป่วยในรูปแบบสติบำบัด ด้วยการพูดคุยควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ เป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม(CBT) และการใช้สติบำบัดจำนวน 8 ครั้ง คือ

1. การฝึกสมาธิทางจิตวิทยา 2.การดำเนินชีวิตด้วยสติ 3.รู้จักและปล่อยวางความรู้สึก 4.การรู้ทัน ปล่อยวางความคิด 5. การทบทวนสัมพันธภาพใหม่ ซึ่งในความสัมพันธ์นั้นอาจะเป็นต้นเหตุของความเครียด 6. การฝึกสติสื่อสาร เป็นการฝึกการสื่อสารอย่างมีสติ 7.การฝึกสติเมตตาและให้อภัย เช่น การฝึกสติเมตตาตนเอง ให้อภัยคนที่ทำให้เราเป็นทุกข์ และ 8. ชีวิตต้องเดินหน้า จะเป็นการทบทวนบทเรียนทั้งหมดที่ผ่านมาเพื่อวางแผนแนวทางการใช้ชีวิต

พี่เปิ้ล บอกว่า การบำบัดเมื่อบำบัดครบทั้ง 8 ขั้นตอนแล้ว หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะมีการประเมินผู้ป่วยเป็นระยะ แบบ 1 เดือน ,3 เดือน , 6 เดือน และ 12 เดือน

เมื่อถามว่าผู้ป่วยมีโอกาสจะกลับมาป่วยซ้ำได้อีกหรือไม่ พี่เปิ้ลบอกว่า โอกาสในการกลับมามีอาการกำเริบของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ประมาณร้อยละ 50 ขึ้นไป สำหรับโรคไบโพลาร์มีโอกาสกำเริบถึงร้อยละ 90

สำหรับข้อมูลของการบำบัดด้วยสติบำบัดในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและได้รับการบำบัดครบถ้วนตามโปรแกรม พบว่ามีอาการกำเริบประมาณร้อยละ 15

“ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จิตแพทย์จะมีหน้าที่ให้การรักษา ส่วนพยาบาลจะมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เกิดการเป็นซ้ำ ทั้งนี้เราจะต้องเข้าใจด้วยวว่า โรคทางจิตเวช ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ส่วนอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด และการปรับตัวของผู้ป่วย”พี่เปิ้ล กล่าว

การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยทางสุขภาพจิต คือ การลดความเครียด ถ้าสังเกตว่ารู้สึกเคียด ควรหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น กิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หาเวลาออกกำลังกาย ลดคามคาดหวังจากคนอื่น ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ถ้ามีอาการทางร่างกายบางอย่างที่อาจสัมพันธ์กับความเครียดได้ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องอืด นอนหลับไม่สนิท เบื่ออาหาร โดยไม่มีโรคทางกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

ส่วนครอบครัวที่มีผู้ป่วยทางจิต อย่างแรกที่ต้องทำ คือ หาความรู้ในเรื่องนั้นๆ และต้องยอมรับในตัวผู้ป่วย ดูแลเขา ให้กำลังใจ ให้พึงระลึกเสมอว่าเขาเป็นโรคไม่ใช่คนอ่อนแอ และสิ่งที่ตามมาคือ ต้องให้อภัย ลดความคาดหวัง และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสได้พูด

“ตัวอย่างของเคสที่เคยเจอและผู้ป่วยอายุน้อยที่สุด คือ 15 ปี พ่อและแม่เป็นคนพามาหาจิตแพทย์ ผู้ป่วยเป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ค่อนข้างเครียดกับการเรียน ไม่มีกิจกรรมผ่อนคลายนอกเวลาเรียน ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิต หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาและการบำบัดทำให้อาการดีขึ้นมา”

นอกจากนี้พี่เปิ้ลยังบอกว่า คนที่ทำงานและเอางานมาทำที่บ้าน ไม่ได้พักผ่อน คนที่นอนน้อยหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว เพราะการนอนน้อยมีผลกระทบต่อสมองโดยตรง ดังนั้นเราควรจะบาลานซ์ชีวิตให้สมดุล คือ เมื่อทำงานแล้วควรจะมีเวลาพักผ่อน และออกกำลังกายบ้าง ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า เราต้องมีสุขภาพกายและใจที่ดี แล้วเราจะไม่เจ็บป่วยทางจิต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง