ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเผยวิธีสังเกตอาการเสี่ยงฆ่าตัวตาย หลังข่าวดาราชายจบชีวิต พร้อมแนะวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น ทุกคนทำได้ แต่ต้องใส่ใจคนใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวดารานักแสดงชายจบชีวิตตัวเอง ภายในที่พักแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และในข่าวระบุว่า ก่อนเสียชีวิต ดารานักแสดงชายได้มีการโพสต์ข้อความเป็นลางบอกเหตุในโลกโซเชียลนั้น ว่า ทางกรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงผู้ที่มีความเสี่ยงอยากฆ่าตัวตาย โดยการส่งสัญญาณเตือนผ่านการเขียนระบายในรูปแบบของข้อความหรือการโพสต์ลงในสื่อโซเชียล จึงขอแนะนำให้คนใกล้ชิด ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ให้ช่วยกันสังเกต 5 สัญญาณเตือน การเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในสังคมไทย ดังนี้

1. การโพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน 2. โพสต์ข้อความพูดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว 3. โพสต์ข้อความว่า ตนเองรู้สึกผิด รู้สึกตนเองล้มเหลว รู้สึกหมดหวังในชีวิต 4. โพสต์ข้อความพูดถึงความเจ็บปวด และ 5. โพสต์ข้อความว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้น เมื่อเห็นสัญญาณเตือนเหล่านั้น สิ่งที่เราทุกคนควรปฏิบัติ คือ 1. แสดงความเต็มใจช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ 2. ยอมรับว่า สิ่งที่โพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริงๆ 3. ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่า ปัญหาสามารถแก้ไขและผ่านไปได้ 4. พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา 5. ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อย่าให้อยู่ลำพังคนเดียว 6. ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด 7. แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา และ 8. ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ สำหรับวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยทั่วไป ขอให้คอยสังเกตสัญญาณเตือนคนรอบข้าง หากพบว่า มีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากตาย หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง เพียงแค่เรารับฟังกันและกันอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน ให้ได้พูดคุยระบายความรู้สึกคลายความทุกข์ ในใจ จะทำให้เกิดกำลังใจ ความสบายใจ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะการรับฟังนั้นเป็นพลังที่ดีที่สุด อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง