ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าว The Guardian ตีพิมพ์รายงานพิเศษเกี่ยวกับปัญหารายได้ของบุคลากรสายสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน “สายอาชีพ” ที่เป็นที่ต้องการมาก โดยเฉพาะเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ

นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บุคลาการสาธารณสุข ตั้งแต่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ประจำแล็ป ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ประจำ Nursing Home ถือเป็นอาชีพที่ “เติบโต” สูงที่สุดในอเมริกา

โดยสายงานด้านสาธารณสุข สามารถเอาชนะสายงานที่เกี่ยวข้องกับการ “ค้าปลีก” หรือ “อุตสาหกรรมการผลิต” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจมาโดยตลอด และในขณะที่กราฟการจ้างงาน รวมถึงการเติบโตของสายงานอื่นๆ กำลังดิ่งลง สายงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กลับพุ่งสูงขึ้น

แต่ปัญหาก็คือ ค่าจ้าง และรายได้ กลับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก โดยผู้หญิง และผู้หญิงผิวสี กลับได้รับค่าตอบแทนอย่างจำกัดจำเขี่ย

ปัจจุบัน ตัวเลขของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วสหรัฐฯ มีทั้งหมดรวม 18 ล้านคน ที่น่าสนใจก็คือมากกว่า 80% เป็นผู้หญิง โดยในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2571 มีการคาดการณ์ว่าสายงานนี้ จะมีตัวเลขบุคลากรเพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งถือเป็นสายงานที่เติบโตเร็วที่สุด สาเหตุสำคัญ ไม่ใช่เรื่องอื่น แต่มาจากการ “ชราภาพ” ของกลุ่ม “เบบี้บูม” ที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยออดแอด โดยเฉพาะจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ที่กำลังกัดกินสังคมอเมริกันอย่างหนัก

นับเฉพาะตัวเลขเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานในบ้านพักคนชรา (Home Care workers) ปัจจุบันมีมากกว่า 2 ล้านคนเข้าไปแล้ว ส่วนตัวเลขพยาบาลใน Nursing Home ก็อยู่ใกล้เคียงกันที่ราว 2.4 ล้านคน 9 ใน 10 ของกลุ่มนี้เป็นผู้หญิง 25% เป็นแอฟริกัน-อเมริกัน และ 25% เป็นผู้อพยพ และในผู้อพยพเหล่านี้ จำนวนมาก เป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย

ปัญหาก็คือ บุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ทำงานด้วยชั่วโมงการทำงานยาวนาน ไม่มีสวัสดิการที่แน่นอน รวมถึงไม่มีวันหยุด ทั้งลาพักร้อน หรือ ลาป่วย ที่ตายตัว ขณะเดียวกัน ก็ไม่มี “สหภาพแรงงาน” คอยต่อรอง เป็นปากเป็นเสียงให้กลุ่มอาชีพนี้มากพอ เหมือนกับกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ทั้งที่คนกลุ่มนี้ ต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่การช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ในชีวิตประจำวัน, การดูแลทางการแพทย์เบื้องต้น ไปจนถึงการถูพื้น การล้างจาน-ชาม และคอยเป็น “เพื่อน” คอยพูดคุยคลายเหงา ให้กับบรรดาผู้สูงอายุ

นั่นทำให้อาชีพนี้ เป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานมากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ยังต้อง “รองรับอารมณ์” บรรดาผู้สูงอายุมากที่สุดอีกด้วย เดโบราห์ โอไบรอัน พยาบาลในเนิร์สซิงโฮม ซึ่งมีอายุงาน 12 ปี บอกว่า ภาระหนักที่สุดที่ต้องเจอคือการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง “ฉันต้องพาผู้ป่วยไปฉายแสงทุกวัน และแม้ผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดได้ แต่พยาบาลก็ต้องพยายามอ่านปาก เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร”

ตัวเลขจากรัฐบาลสหรัฐฯ สรุปรวมรายได้ของพยาบาล และเจ้าหน้าที่สนับสนุนทางการแพทย์ทั่วประเทศในปี 2561 พบว่าแต่ละปี คนกลุ่มนี้ได้รายได้เพียงปีละ 2.4 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 แสนบาทต่อปี หากคิดเป็นรายเดือน ก็ได้ราว 2,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.1 หมื่นบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันคนอเมริกันทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ประมาณ 3.17 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.46 แสนบาท) คิดเป็นเงินเดือน จะอยู่ราว 7.8 หมื่นบาท ต่อคนต่อเดือน นั่นทำให้พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ยังห่างชั้นจากอาชีพอื่นค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ Paraprofessional Healthcare Institute องค์กรอิสระไม่แสวงหากำไรในนิวยอร์ค ระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มากกว่า 1 ใน 5 ของบุคลากรสนับสนุนทางการแพทย์ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยความยากจน และมากกว่าครึ่ง ต้องรับ “สวัสดิการพิเศษ” จากรัฐ

ขณะเดียวกัน ยังมีตัวเลขจากเอ็นจีโอที่รณรงค์ด้านปฏิรูปกฎหมายแรงงาน สำรวจพบอีกว่า บุคลากรสนับสนุนทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้หญิง ได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย ทั้งที่แรงงานกลุ่มใหญ่เป็นผู้หญิง นั่นทำให้ตัวเลขการ “ลาออก” ของพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศค่อนข้างสูง โดยอัตราการ “หมุนเวียน” เข้า-ออก ของวิชาชีพนี้ พุ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 82%

มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่ม “ค่าแรง” ให้กับพยาบาลทั่วสหรัฐฯ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นผล หลายรัฐแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลายรัฐพยายามสร้างมาตรฐานอาชีพให้มากขึ้น แต่สิ่งที่ยังคลุมเครือคือ ในอนาคตข้างหน้า ที่ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี จะมีจำนวนมากกว่าปัจจุบัน 1 เท่าตัวในปี 2573 จะทำอย่างไรให้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ พร้อมรองรับอเมริกันชนสูงวัย และสามารถสร้างรายได้ – สวัสดิการ ให้พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ได้ค่าตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่ต้องอยู่อย่างยากจน และเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการ “ช่วยเหลือ” จากรัฐ ทั้งที่ตัวเอง ก็ต้องทำหน้าที่ “ช่วยเหลือ” ผู้อื่น

คำตอบยังคงอยู่ในสายลม..

แปลและเรียบเรียงจาก

Why do one in five home health aides live in poverty? : www.theguardian.com