ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เล็งทำโครงการนำร่องเร่งรัดแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ให้มีเลขประจำตัว 13 หลัก เบื้องต้นตั้งเป้า 20,000 คน ในพื้นที่ จ.เชียงรายและเชียงใหม่ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข พร้อมจัดงบค่าตอบแทนแก่ครูและเจ้าหน้าที่อำเภอผู้กรอกแบบฟอร์มและบันทึกข้อมูลลงในระบบของกรมการปกครอง

วันที่ 17 ต.ค. 2562 ได้มีการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานการเพิ่มกลุ่มที่มีสถานะและสิทธิเข้าสู่กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน อาทิ มูลนิธิพัฒนาชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อย มูลนิธิกระจกเงา องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมทั้งหมด 15 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงกลุ่มการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G หรือ เด็กติด G ซึ่งหมายถึงเด็กที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยที่เข้าเรียนในโรงเรียนไทย แม้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้เพราะรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วย G เป็นรหัสประจำตัวที่ใช้ในการศึกษา ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้แม้กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ของเด็กกลุ่มนี้ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.1/ว. 7167 ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2560 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติพบว่ายังมีอุปสรรคในระดับพื้นที่ ทำให้นักเรียนแต่ละรายต้องใช้ระยะเวลานานในการกรอกแบบสำรวจและดำเนินการทางทะเบียนราษฎร์ จนเด็กส่วนหนึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนเดิมไปแล้วก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะ ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดในปี 2559 พบว่ามีเด็กกลุ่มนี้ทั่วประเทศกว่า 78,893 คน

นายสุมิตร วอพะพอ จากมูลนิธิพัฒนาชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อย ให้ข้อมูลว่า หลังจากกระทรวงมหาดไทยกำหนดแนวปฏิบัติตามหนังสือลงวันที่ 21 ธ.ค. 2560 แล้ว ข้อเท็จจริงที่พบในพื้นที่คือการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวต้องตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือจากกรมการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามรับรองเด็ก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 1.รายชื่อเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ตามฐานข้อมูลจากกรมการปกครองปี 2559 แต่พอปี 2560 และ 2561 จะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีรายชื่อในกลุ่มนี้แล้ว 2.แบบฟอร์มตรวจสอบสถานะเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G มี 3 หน้า ทางอาจารย์ในโรงเรียนไม่เชี่ยวชาญด้านการซักประวัติ ทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน 3.ข้อมูลบิดามารดาที่นำเด็กไปเรียนในสถานศึกษามีความสับสน ปีใช้ใช้บัตรอย่างหนึ่ง พอปีต่อมากลับมีการเปลี่ยนสถานะหรือเปลี่ยนชื่อ เป็นต้น 4.ผู้อำนวยการบางโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 5.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแห่งไม่กล้าลงนามรับรองเพราะไม่รู้จักเด็ก กลัวว่าลงนามแล้วจะมีความผิด 6.ผู้นำชุมชนบางรายไม่ยอมลงนามเพราะผิดใจกับผู้อำนวยการโรงเรียนหรือเพราะไม่ได้เป็นกรรมการสถานศึกษา 7.ด้วยจำนวนเด็กที่มีมากและต้องตรวจสอบค่อนข้างละเอียด แต่ฝ่ายทะเบียนที่อำเภอมีเจ้าหน้าที่น้อยจึงทำไม่ทัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้ข้อมูลว่า ได้มีการออกหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.1/ว.5784 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในการรองรับการขึ้นทะเบียนของเด็กกลุ่มนี้ให้รวดเร็วขึ้นแล้ว สาระสำคัญคือบุคคลที่ลงนามจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครูฝ่ายทะเบียน และคณะกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งหมด 3 คน แบบฟอร์มตรวจสอบสถานะก็จะลดลงเหลือ 1 หน้าครึ่ง เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ดีเพราะทางอำเภอสามารถสแกนแบบฟอร์ม บันทึกชื่อเด็กเข้าไปในระบบ ตัวระบบก็จะกำหนดเลข 13 หลัก เป็นบุคคลประเภท 0 กลุ่ม 00 ให้ได้เลย เพียงแต่ขณะนี้หนังสือดังกล่าวเพิ่งออกมาและทางกรมการปกครองอยู่ในช่วงปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ จึงยังไม่สามารถชี้แจงถึงผลการดำเนินการได้ นอกจากนี้ ทางกรมการปกครองก็ยังต้องรอการส่งฐานข้อมูลจำนวนเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ของปี 2562 จากกระทรวงศึกษาธิการเสียก่อน หลังจากนั้นก็ยังมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและการยืนยันตัวตนของเด็กในระดับพื้นที่ ถึงจะสามารถออกเลขประจำตัว 13 หลักให้ได้

อย่างไรก็ดี แม้กระทรวงมหาดไทยจะปรับปรุงแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ของเด็กที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G แล้ว แต่ที่ประชุมเห็นว่าปัญหาในเชิงนโยบายได้ทำการแก้ไขแล้ว แต่ปัญหาในระดับพื้นที่ยังมีอยู่ เช่น ภาระงานของครูในโรงเรียนต้องสอนตั้งแต่เช้าจนเย็น การต้องกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบสถานะเด็กจึงคล้ายเป็นงานฝากของหน่วยงานอื่น ไม่ใช้ภารกิจหลัก ครูอาจไม่มีเวลามาทำได้เต็มที่หรือใช้วิธีให้การบ้านเด็กไปกรอกข้อมูลเองจนอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน หรือจำนวนของเจ้าหน้าที่ด้านทะเบียนในแต่อำเภอมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนข้อมูลที่ต้องบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอในที่ประชุมให้จัดทำโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เบื้องต้นตั้งเป้าหมายจำนวนเด็กที่ได้รับการจัดทำเลขประจำตัว 13 หลัก ในพื้นที่ จ.เชียงราย 10,000 คน และ จ.เชียงใหม่ อีก 10,000 คน ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยจะเสนอของบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ มาเป็นค่าตอบแทนแก่ครูและเจ้าหน้าที่อำเภอผู้บันทึกข้อมูลลงในระบบ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาและมีข้อมูลจำนวนมาก จึงควรมีค่าตอบแทนให้ในส่วนนี้

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ทางผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆจะนำกลับไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือประชุมหารือในองค์กรเครือข่าย ก่อนจะกลับมาประชุมกันอีกครั้งในเดือน พ.ย. นี้ และหากสามารถดำเนินการได้จริง คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน ม.ค. 2563 และหากผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจก็จะทำโครงการในลักษณะนี้จนสามารถแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ได้ครบทุกคน