ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คาด ธ.ค.นี้ ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มาอีกระลอก สธ.เร่งให้ความรู้ 4 กลุ่มเสี่ยง “เด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยโรคหอบ” สั่งสถานพยาบาลรับมือการเจ็บป่วย วางเกณฑ์เปิดวอร์รูมสู้ 4 ระดับ วอนประชาชนงดกิจกรรมเกิดฝุ่น ด้าน กรมการแพทย์ เล็งเปิดคลินิกมลพิษใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่ม

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะได้มีการประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมมีข้อสั่งการรับสถานการณ์

นพ.สุขุม กล่าวภายหลังประชุมฯ ว่า จากการประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าในกรุงเทพและปริมณฑล เคยประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานยาวนานติดต่อกันนานถึง 22 วัน ส่วนต่างจังหวัดยังมีปัญหาเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองยังไม่มาก ก็จะมีการปะสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการผลิตและติดตั้ง เพราะในการประชุมมีการประเมินสถานการณ์และคาดว่าในเดือน ธ.ค.นี้ จะมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลับมาอีก ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการให้ความรู้กับประชาชนและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยโรคหอบ หืด และขอให้ให้สถานพยาบาลเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง ระบบตา และอื่น ๆ รวมถึงเฝ้าระวังผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาวด้วย อย่างเช่น โรคมะเร็ง นอกจากนี้ก็ขอให้จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาลทุกระดับด้วย

“ดังนั้นอยากขอความร่วมมือประชาชนลด งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น การจุดธูป จุดเทียน สามารถหลีกเลี่ยง หรือว่าเปลี่ยนมาเป็นธูปไฟฟ้าได้หรือไม่ ขอให้ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนอย่าให้เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง และในช่วงเช้าที่มีฝุ่นเยอะก็ขอให้งดออกกำลังกายกลางแจ้ง แล้วมาออกกำลังกายในร่มแทน รวมถึงตอนนี้เราได้ให้จังหวัดใช้พ.ร.บ.การสาธารณสุขในการออกคำสั่งห้ามเผากลางแจ้งด้วย” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงยังได้มีการปรับแผนรับมือฝุ่นฯ โดยจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 ระดับ 1.ระดับจังหวัด โดยหากมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ก็ให้เปิดศูนย์ฯ ระดับจังหวัดขึ้น โดยมี สสจ. เป็นผู้สั่งการ 2.ระดับเขตสุขภาพ ในกรณีมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับจังหวัด มากกว่า 1 จังหวัด ให้มีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตฯ 3.ระดับกรม คือหากมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตมากกว่า 2 เขต จะต้องมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับกรมขึ้น โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ และกรมสบส.ร่วมกันรับผิดชอบ และ 4. ระดับกระทรวง ในกรณีที่มีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตเกิน 3 เขต หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และนโยบายของผู้บริหารในการพิจารณาเปิดศูนย์ระดับกระทรวงขึ้นได้ ทั้งนี้ ภายหลังเปิดศูนย์ฯ แล้วหากสถานการณ์ฝุ่นลดต่ำกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 6 วันก็ให้ปิดศูนย์ฯ ได้

ด้าน นพ.มานัส กล่าวว่า ภายหลังการเปิดคลินิกมลพิษ ที่รพ.นพรัตนราชธานี สังกัดกรมการแพทย์ ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยคัดกรอง 239 ราย แต่รักษาที่คลินิก 43 ราย ส่วนใหญ่มาหลังสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 แล้ว 7 วัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วยยังน้อยจึงยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ ทั้งนี้ ขณะนี้ยังได้เตรียมเปิดคลินิกฝุ่นละอองในรพ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสด้วย เพราะพบว่ามีปัญหาฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้จากประเทศเพื่อนบ้าน.