ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สงครามในอัฟกานิสถานเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2522 จากความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียต ซึ่งหนุนหลังกองทัพ “อัฟกานิสถาน” กับกลุ่มมุจาฮีดีน โดยเป็นหนึ่งในสมรภูมิหลักของ “สงครามเย็น” ที่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ประเทศนี้ แตกเป็นเสี่ยง ๆ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ยังเรื้อรังมาอีกอย่างน้อย 40 ปีให้หลัง

ในเวลานั้น โซเวียต สนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ ส่วนสหรัฐอเมริกา สนับสนุนกลุ่มกบฎมูจาฮีดีน ผ่านทั้ง “การเงิน” และอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่

เท็ตสึ นากามุระ วัย 73 ปีได้รับความรักและเคารพจากผู้คนจำนวนมากในอัฟกานิสถานสำหรับงานด้านมนุษยธรรมของเขามานานกว่า 3 ทศวรรษ

ขอบคุณภาพจาก nikkei asian review

ปี 2527 นพ.เท็ตสึ นากามุระ (Tetsu Nakamura) แพทย์จากฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มทำหน้าที่ “หมออาสา” เพื่อตั้งศูนย์การแพทย์ในเมืองเปชาวาร์ ทางตอนเหนือของปากีสถาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากสมรภูมิรบในอัฟกานิสถาน

ภารกิจหลักก็คือการดูแลผู้ป่วย “โรคเรื้อน” และภารกิจทางการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้อพยพ “ลี้ภัยสงคราม” จำนวนหลายพันคน ซึ่งล้นทะลักเข้ามาในปากีสถานในห้วงเวลานั้น ตามที่รัฐบาลปากีสถาน ร้องขอไปยังรัฐบาลญี่ปุ่น

ต้องไม่ลืมว่า นั่นคือภารกิจที่ยากลำบากพอตัว ปากีสถานเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางทะเลทราย และไม่ได้ปลอดภัยอะไร ขณะที่ “สงครามตัวแทน” ก็ยังไม่มีแววจบลงง่าย ๆ

“สิ่งที่ผมตั้งใจก็คือ จะอยู่ที่นั่นแค่ 5-6 ปี และ จบภารกิจนี้เมื่อไหร่ ผมก็จะกลับบ้าน” นากามุระ ให้สัมภาษณ์กับ NHK เมื่อปีที่แล้ว เล่าถึงความตั้งใจในห้วงสงคราม

ปัญหาก็คือ ยิ่ง “อยู่นาน” ปัญหาที่ตามมาก็ยิ่งมากขึ้น โรงพยาบาลสนามของปากีสถานในเวลานั้น ไม่มีความพร้อมสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต อุปกรณ์ผ่าตัด หรือเตียงคนไข้ และผู้อพยพลี้ภัยข้ามแดนก็ยังทยอยข้ามมา แม้ว่าจะเป็นช่วงท้ายสงคราม หรือจบสงครามแล้ว

ในที่สุด นากามุระ ก็ไม่สามารถกลับบ้านได้ แม้สงครามจะจบลงในปี 2532 ด้วยชัยชนะของกลุ่มมูจาฮีดีน เขาให้เหตุผลว่า ในเมื่อยังคงมีคนไข้จำนวนมาก รอให้ช่วยเหลืออยู่ เขาก็ไม่สามารถทิ้งคนเหล่านี้ได้ลง

ไม่นานหลังจากนั้น เขาตั้งกลุ่ม Peace Japan Medical Service หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า Peshawar – Kai เพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ ขนาดเล็ก - ขนาดกลาง จำนวน 3 แห่ง ในอัฟกานิสถาน ไม่ไกลจากชายแดนปากีสถานที่นากามุระเคยประจำอยู่

ที่อัฟกานิสถาน หมอนากามุระ เผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ เขาพบว่าต้นตอสำคัญของปัญหาสุขภาพทั้งหมดคือ “ความอดอยาก” และการ “ขาดสารอาหาร”

“ขอแค่คุณเอาชีวิตรอดให้ได้ ส่วนโรคที่คุณเป็น ผมจะรักษาให้ทีหลัง” คือประโยคที่คุณหมอนากามุระพูดกับชาวบ้านแถวนั้นอยู่หลายครั้ง

เมื่อการเปิดศูนย์การแพทย์ไม่ใช่คำตอบของการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในแถบนั้น หมอนากามุระ จึงเบนความสนใจไปยังโครงการใหม่ นั่นคือการสร้างระบบ “การเกษตร” และระบบ “ชลประทาน” ในพื้นที่ภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน

“ปัญหาก็คือ การแพทย์ไม่สามารถแก้ปัญหาความอดอยาก หรือความแห้งแล้งได้ พวกเราจึงคิดได้ว่า เราอาจต้องไปให้ไกลกว่าเรื่องการแพทย์” หมอนากามุระให้สัมภาษณ์กับ NHK

แน่นอน นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอัฟกานิสถาน ในเวลานั้น ยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ปี 2532 – 2539 อัฟกานิสถานเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังมูจาฮีดีนที่ชนะสงคราม แย่งชิงอำนาจกันเอง และเกิดกองกำลังติดอาวุธ “ตาลีบัน” เข้ายึดอำนาจพวกมูจาฮีดีนเดิมในเวลาต่อมา

ทั้งหมดนี้ เหมือนจะจบ แต่ก็ไม่จบ ตาลีบันเองยังคง “สุดโต่ง” รัฐบาลตาลีบัน ปกครองด้วยกฎเกณฑ์ทางศาสนาที่เข้มข้น นั่นทำให้ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ - ศาสนา ยังคงระอุต่อไป

ถึงปลายปี 2543 อัฟกานิสถานเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง หมอนากามุระ ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ เขาเริ่มต้นโครงการใหญ่อย่างการขุดคลองชลประทานความยาว 25.5 กิโลเมตร ในจังหวัดนันกาฮาร์ของอัฟกานิสถาน โดยดึงน้ำมาจากแม่น้ำคุนาร์ เพื่อทำให้พื้นที่รอบ ๆ สามารถทำการเกษตรได้

หมอนากามุระ นำแนวคิดนี้มาจากบ้านเกิดที่อาซากุระ ฟุกุโอกะ ซึ่งมีคลองชลประทานอายุ 200 ปี ไหลผ่านกลางเมือง อย่างไรก็ตาม เขาไม่รู้ว่าในพื้นที่ทะเลทรายแบบอัฟกานิสถาน จะต้อง “ขุดคลอง” อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ในวัย 57 ปี หมอนากามุระเรียนรู้วิธีการร่างพิมพ์เขียว วิธีการออกแบบ - บริหารจัดการระบบชลประทานด้วยตัวเอง รวมถึงลงพื้นที่ คุยกับ “ผู้รู้” ทั่วอัฟกานิสถาน และทั่วโลก จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบน้ำอย่างหาตัวจับยาก

“ตอนที่เรียนจบแพทย์มา ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกัน ว่าวันหนึ่งจะต้องมาขุดคลอง ทำระบบชลประทานในพื้นที่ทะเลทรายแบบนี้” หมอนากามุระให้สัมภาษณ์อย่างอารมณ์ดี

แม้จะต้องใช้เวลาก่อสร้างยาวนานหลายปี และต้อง “ออกแรง” หาทุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งทั่วโลก แต่ในที่สุด คลองมาร์วะริด ก็เสร็จสมบูรณ์ในปี 2552 พร้อม ๆ กับการบูรณะคลองอีก 8 แห่งรอบพื้นที่ ให้สามารถใช้งานได้

ขณะเดียวกัน นากามุระ ก็ยังเขยิบไปสร้าง “อ่างเก็บน้ำ” ขนาดใหญ่ อีก 11 แห่ง ในแม่น้ำคุมาร์ เปลี่ยนพื้นที่ทะเลทราย 1,600 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่เกษตร เป็นทุ่งข้าวสาลี และเป็นสวนผลไม้ขนาดใหญ่อีกหลายสวน

คาดการณ์ว่า ชาวบ้านมากกว่า 6 แสนคน ในเขตจาลาลาบัด ได้ประโยชน์จากคลองที่หมอนากามุระ เป็นผู้ริเริ่มขุดขึ้น คนในพื้นที่ เรียกเขาด้วยความรักว่า Uncle Murad หรือคุณลุงมูรัด

“สิ่งที่ผมรักที่สุดในการทำงานนี้ ก็คือการได้เห็นหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” หมอนากามุระกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาไม่สามารถแก้ไขได้ ก็คือความวุ่นวาย ความรุนแรง และอันตราย อันเป็นผลกระทบจากสงครามก่อการร้าย ภายหลังสหรัฐอเมริกาส่งกองกำลังมาโค่นล่มรัฐบาลตาลีบัน และกลุ่มอัลกออิดะฮ์ สำเร็จในปี 2544

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตาลีบัน กลายเป็นกลุ่ม “กองโจร” ต่อต้านรัฐบาลตัวแทนสหรัฐฯ ด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่ลักพาตัว กราดยิงในที่สาธารณะ ระเบิดพลีชีพ หรือใช้กองกำลัง “ยึดเมือง” บางเมืองก็มี

ประมาณการณ์ว่า 18 ปีที่ผ่านมา มีชาวอัฟกันเสียชีวิตนับแสนคน จากเหตุรุนแรงเหล่านี้ และทีมของหมอนากามุระ ก็หลีกหนีความรุนแรงไม่พ้น

ส.ค. 2551 คาสุยะ อิโตะ เจ้าหน้าที่กลุ่ม Peshawar- Kai ชาวญี่ปุ่น วัย 31 ปี ถูกลักพาตัว และถูกสังหารในเวลาต่อมา จากกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย ผลที่ตามมาก็คือ Peshawar – Kai ปิดคลินิกเกือบทั้งหมดในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างก็บินกลับบ้าน เพราะกังวลในความปลอดภัย

แต่ไม่ใช่หมอนากามุระ เขากล่าวกับคนใกล้ชิดภายหลังเหตุรุนแรงว่า เขาจะทำงานในพื้นที่นี้ต่อไปอีก 20 ปี

“แต่ละปี มันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ผมเห็นเรื่อยมาก็คือ คนอัฟกันเองก็เชื่อเหมือนกันว่าวันหนึ่ง พวกเขาจะสูญเสียประเทศนี้ไปจริง ๆ และประเทศนี้ จะไม่เหลืออะไร เหลือเพียงแต่ ‘ทะเลทราย’ เท่านั้น” หมอนากามุระกล่าว

จากการอุทิศชีวิต และความรู้ทั้งหมดให้อัฟกานิสถาน หมอนากามุระได้รับรางวัล “แม็กไซไซ” เมื่อปี 2546 และได้รับรางวัล Fukuoka Award ในปี 2556

7 ต.ค. ที่ผ่านมา หมอนากามุระ เพิ่งได้รับเกียรติให้เป็น “พลเมืองกิตติมศักดิ์” ของอัฟกานิสถาน โดยประธานาธิบดี อัชราฟ ฆานี เป็นผู้มอบด้วยตัวเอง

งานที่เหลืออยู่ของหมอนากามุระในอัฟกานิสถานขณะนี้คือการก่อสร้างคลองชลประทาน “เฟสสอง” โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นมากกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้อยู่จนโปรเจกต์นี้เสร็จสิ้น เพราะเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธ 7-8 คน ดักโจมตีรถของหมอนากามุระใกล้เมืองจาลาลาบัด โดย 6 คน ในรถ รวมถึงบอดี้การ์ด และคนขับรถ เสียชีวิตทั้งหมด

แพทย์ผู้ชันสูตรศพระบุว่ากระสุนนัดหนึ่งทะลุอกด้านขวาของหมอนากามุระ และฝังอยู่ใกล้กระดูกเชิงกราน ทำให้หมอนากามุระ ที่นั่งด้านข้างคนขับเสียชีวิต

ที่น่าสนใจก็คือกระสุนที่ใช้ เป็นกระสุนพิเศษ ซึ่งมีความรุนแรง “หวังผล” ให้เป้าหมายเสียชีวิตทันที ซึ่งถูกใช้ไม่บ่อยครั้งนักในอัฟกานิสถาน

พยานที่เห็นเหตุการณ์ยังบอกอีกด้วยว่า ภายหลังกลุ่มติดอาวุธโจมตีเสร็จแล้ว คนเหล่านี้ยังพยายามตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่าเป้าหมายใช่หมอนากามุระหรือไม่ และทีมของเขา “สิ้นลม” แล้วหรือยัง ก่อนที่ทั้งหมดจะหลบหนีออกจากพื้นที่

ชัดเจนว่า ความพยายามพัฒนาพื้นที่นี้ให้กลับมา “มีชีวิต” กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เขาไม่อาจมีลมหายใจดูแลโครงการนี้ต่อไปจนจบ

ขอบคุณภาพจาก อัลจาซีรา

หลังการเสียชีวิตของหมอนากามุระ คนอัฟกานิสถานทั่วประเทศร่วมกันไว้อาลัย ในเมืองนากานา เมืองเอกของจังหวัดจาลาลาบัด และคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ภาพของหมอนากามูระขนาดใหญ่ถูกวาดขึ้น พร้อมข้อความว่า “บนผืนดินนี้ เราจะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความรักเท่านั้น, ไม่มีอย่างอื่น นอกจากความรัก”

มิตซูจิ ซูซูกะ ทูตญี่ปุ่นประจำกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน ยืนยันว่าญี่ปุ่น พร้อมจะสนับสนุนโครงการของหมอนากามุระต่อให้จบ เช่นเดียวกับ โอมิด ชารีฟี นักเคลื่อนไหวในจาลาลาบัด ก็ยืนกรานว่า ทั้งชาวบ้าน และรัฐบาลท้องถิ่น เห็นตรงกันว่า ถึงอย่างไร ก็ต้องทำให้ระบบชลประทานที่หมอนากามุระเริ่มต้นไว้จบลงให้ได้

“สิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างระบบชลประทานเท่านั้น แต่คือการทำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลง ‘เชิงบวก’ คืออะไร และต้องทำอย่างไร” ซารีฟี ให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา

แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต แต่การทำให้พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสงคราม และความรุนแรง ได้เห็นมุมอื่น รวมถึงสามารถพลิกฟื้นชีวิตคนที่อดอยาก ให้กลับมา “มีชีวิต” อีกครั้ง

นั่นอาจถือได้ว่าชีวิตของหมอนากามุระ ถูกใช้อย่าง “คุ้มค่า” แล้ว

แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค

ที่มา

1.Remembering Tetsu Nakamura, Japanese Doctor Who Spent Decades Working In Afghanistan [www.npr.org]

2.Tetsu Nakamura, a humanitarian who was more than a doctor [www.asahi.com]

3.Japan Envoy Says Nakamura’s Projects Will be Completed [tolonews.com]

4.'Son of Afghanistan': Murals honour slain Japanese doctor [www.aljazeera.com]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง