ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครูแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เจ้าของรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ปีล่าสุด แนะเคล็ดลับ 9 วิธีการเรียนรู้ สู่การเป็นแพทย์ที่ดี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาต่าง ๆ ประจำปีการศึกษา 2561 โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลสาขาความเป็นครู คือ ผศ.พญ.สุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา อาจารย์แพทย์สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ครูแพทย์ผู้ทำหน้าที่สอนลูกศิษย์เพื่อให้ออกไปเป็นแพทย์ที่ดี ได้แนะวิธีการเรียนรู้สู่การเป็นแพทย์ที่ดี

ผศ.พญ.สุวนิตย์ กล่าวว่า การสอนนักศึกษาแพทย์เพื่อให้ออกไปเป็นแพทย์ที่ดีนั้น จากประสบการณ์ที่เป็นอาจารย์แพทย์มานานากว่า 25 ปี ได้ปรับวิธีการสอนจนได้เป็นกรอบสำหรับการเรียนรู้ ที่เรียกว่า 9C คือ

C1 Complaint เป็นสิ่งสำคัญประการแรก คือ ดูอาการความเจ็บป่วยว่าเป็นอย่างไร

C2 Concern ความวิตกกังวลและความต้องการของผู้ป่วย หรือญาติคืออะไร เพราะผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลซ่อนเร้นอยู่ แพทย์ควรทำให้เขาคลายความวิตกกังวลใจให้ได้

C3 Cause คือการหาสาเหตุหรือปัญหาที่มาของโรค

C4 Course คือสภาวะของผู้ป่วยหรือสภาวะของโรคขณะที่พบว่าอยู่ในช่วงใด คาดว่าโรคนี้จะดำเนินการไปอย่างไร เพราะจะต้องวางแผนเพื่อที่จะดูแลให้เหมาะสม ทันการณ์ เป็นการป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

C5 Choices คือข้อมูลทางเลือก ผลดี ผลด้อย ให้ผู้ป่วย หรือญาติทราบ และมีส่วนร่วมในการรักษา

C6 Cost ค่าใช้จ่ายในแต่ละทางเลือกของผู้ป่วย ข้อนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วย แม้ปัจจุบันจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม หรือรูปแบบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามกฎระเบียบของโรงพยาบาล หรือกฎหมาย ก็ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมในการตัดสินใจด้วย

C7 Complication ในการรักษาแต่ละครั้งอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นก่อนมาถึงโรงพยาบาลแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ซึ่งแพทย์จะต้องให้ข้อมูลชี้แจง หรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น หรือต้องเตรียมการแก้ไขเหตุการณ์เหล่านั้น

C8 Consequence คือ ผลที่เกิดตามมาของการรักษา ซึ่งเราต้องเตรียมการแก้ไข และสุดท้ายคือ

C9 Counseling คือการให้คำปรึกษาแนะนำ และร่วมกันตัดสินใจพร้อมการเสริมด้านกำลังใจ เพื่อที่จะทำให้ผลการดูแลรักษานั้นมีประสิทธิภาพ เกิดความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ

ผศ.พญ.สุวนิตย์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ เป็นการสอนเพื่อให้นักศึกษาแพทย์จำง่าย ได้เห็นภาพกว้างในการดูแลรักษาหรือป้องกันโรค ฝึกความคิดเชื่อมโยง ไม่ว่าเขาจะจบไปเป็นแพทย์ระดับไหน ก็จะสามารถนำกรอบนี้ไปใช้ในชีวิตการเป็นแพทย์ที่ดี เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และสามารถพัฒนาตนเองต่อเนื่องได้

“ผู้ที่มีอาชีพเป็นแพทย์ นอกจากจะต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยภายใต้กรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีความเสียสละ มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และมีความสนใจในวิทยาการที่ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เราในฐานะที่เป็นครูแพทย์ที่นอกจากต้องให้ความรู้แก่ลูกศิษย์แล้ว ยังต้องมีกรอบคุณธรรม จริยธรรมสูงยิ่งขึ้น ความเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้น แต่ครูยังจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้ช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาทางด้านความรู้ บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคม ซึ่งก็คือ เราต้องเป็นที่พึ่งทั้งด้านศาสตร์ คือให้ความรู้ในวิชาชีพ และทางด้านศิลป์ คือ หล่อหลอมจิตใจ ให้ลูกศิษย์เป็นคนดี นั่นเอง” ผศ.พญ.สุวนิตย์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง