ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘จากเดิมที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเอาใจใส่ตอนนี้กลายเป็นการทำงานแบบขอไปทีแล้วค่ะ’ พยาบาลเผย

พยาบาลคนนี้ชี้ว่าปัญหาขาดแคลนพยาบาลกำลังก่อวิกฤติต่อผู้ป่วย ผู้เขียนเองในฐานะที่เข้าร่วมในการวิจัยทางคลินิกซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยอย่างเข้มงวดจึงอดประหลาดใจไม่ได้ แต่เมื่อพินิจดูก็ตระหนักว่าความเห็นดังกล่าวอาจไม่เกินความจริง และเกรงว่าระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกากำลังมีท่าทีเย็นชาทั้งต่อผู้ป่วยและพยาบาลด้วยเช่นกัน

ดานา (เพื่อนของผู้เขียน) มาห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบลูมิงตันในเช้าวันหนึ่งด้วยอาการลำไส้อุดตันซึ่งมักพบภายหลังการผ่าตัดหรือฉายแสงบริเวณใต้เข็มขัด สุดท้ายดานาต้องนอนอยู่ในห้องฉุกเฉินทั้งคืนเพราะโรงพยาบาลปิดหอผู้ป่วยจากปัญหาขาดแคลนบุคลากร

จนเมื่อได้ห้องแล้วดานายังต้องรออีก 45 นาทีกว่าที่พยาบาลซึ่งกรำงานเกินกำลังจะตอบสัญญาณเรียก พยาบาลสาวซึ่งเป็นผู้ต่อสายให้อาหารทางจมูกมีหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วย 4 คนแต่เอาเข้าจริงกลับต้องรับผิดชอบถึง 6 ชีวิตแล้วยังต้องคอยดูผู้ป่วยที่ห้องหยดยาด้วย ดานานอนตาค้างในคืนที่ 2 จากเสียงโทรทัศน์ของผู้ป่วยร่วมห้อง มีอาการหนาวสั่นและสงสัยว่าตัวเองจะมีไข้ ก่อนที่ดานาจะออกจากโรงพยาบาลในบ่ายวันต่อมาก็พบว่าเครื่องปรับอากาศหมุนไปที่ 15 องศา แน่นอนว่าดานาย่อมโกรธจัดเมื่อปลายสายเป็นเสียงอัตโนมัติประเมินความพึงพอใจจากโรงพยาบาล

‘มีคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 4...ท่านพึงพอใจกับบริการของโรงพยาบาลหรือไม่?’

ดานาพ้นจากโรงพยาบาลมาอย่างปลอดภัย แต่ประสบการณ์ของเพื่อนกระตุกให้ผู้เขียนนึกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผู้เขียนซึ่งเกิดลำไส้อุดตันก็ต้องนอนในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลท้องถิ่นตลอดคืน เมื่อได้ห้องในเช้าวันต่อมาผู้เขียนจำเป็นต้องปรึกษากับพยาบาลเฉพาะทางจากปัญหาหลังผ่าตัดทำลำไส้เล็กเปิดทางหน้าท้อง แต่กว่าพยาบาลจะมาก็อีก 1 วันให้หลัง ซึ่งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว

หากจะบอกว่าระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกานั้นเย็นชา...ผู้เขียนขอชี้ชัดว่าไม่ได้หมายถึงก้าวร้าวหรือรุนแรงต่อผู้ป่วย...แต่เป็นความหมางเมินและเร่งรีบหรือไม่ก็เชื่องช้าของบุคลากร รวมความว่าเป็นการดูแลอย่างปราศจากความเอาใจใส่อั นมีสาเหตุมาจากการขาดบุคลากรและภาวะบีบคั้นภายในสถานพยาบาล

ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก การขาดแคลนพยาบาลเกิดขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา สมาคมวิทยาลัยการพยาบาลอเมริกันเองก็คาดว่าปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในท่ามกลางสังคมผู้สูงอายุ คาดกันว่าการเกษียณของพยาบาลวิชาชีพรุ่นใหญ่ราว 3.8 ล้านคนทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วง 10 ปีนับจากนี้จะยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรหนักหน่วงยิ่งไปกว่าเดิม ไม่เพียงโรงพยาบาลเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ โรงเรียนรัฐหลายแห่งแม้ในขณะนี้ก็ไม่มีพยาบาลแล้วเหมือนกัน

ผู้เขียนไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดตามกำหนด พยาบาลที่เก็บตัวอย่างเลือดเล่าให้ฟังว่าพนักงานต้อนรับของห้องหยดยาลาออกแล้วแต่จะไม่มีการรับคนเพิ่ม และโรงพยาบาลจะให้พยาบาลผลัดกันไปรับหน้าแทน

‘จากเดิมที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเอาใจใส่ตอนนี้กลายเป็นทำงานแบบขอไปทีแล้วค่ะ’

พยาบาลอธิบายว่าแผนกจะมีระบบคอมพิวเตอร์ใหม่และผู้เขียนควรโทรศัพท์เข้ามาก่อนถึงวันนัด ท้ายสุดหลังจากที่ได้ระบายเรื่องกลัดกลุ้มออกมา พยาบาลก็ยืนยันว่าเธอจะพยายามสุภาพต่อผู้ป่วยมากที่สุด...แน่นอนว่าเธอทำได้จริง

ในอีกหลายสัปดาห์ต่อมาผู้เขียนยังคงครุ่นคิดเรื่องปัญหาขาดแคลนพยาบาลพยาบาล เอาเข้าจริงแล้วจำนวนพยาบาลที่น้อยไม่ได้เป็นผลจากตัวอุปสงค์หรือจำนวนผู้ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อ มีคนจำนวนมากที่ต้องการจะเป็นพยาบาลแม้รู้ว่าต้องเผชิญงานหนักที่พาให้เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ หลักสูตรพยาบาลต่างหากที่ผลิตพยาบาลน้อยเกินไป ตัวเลขเมื่อปี 2561 ชี้ว่าวิทยาลัยพยาบาลบอกปัดผู้สมัครกว่า 75,000 คนเพราะปัญหาขาดแคลนอาจารย์และมีงบประมาณไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลอาวุโสชำนาญการส่วนหนึ่งยังมีสาเหตุจากการที่ค่าตอบแทนสำหรับอาจารย์ (พยาบาลซึ่งสำเร็จการศึกษาชั้นสูง) เทียบไม่ได้เลยกับค่าตอบแทนที่ได้รับจากโรงพยาบาล ภาคเอกชน หรือกองทัพ

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นอาจารย์สาขามานุษยวิทยานึกว่ามีแต่อาจารย์สาขานี้เท่านั้นที่ถูกหมางเมินและได้ค่าตอบแทนต่ำ อาจารย์พยาบาลก็เป็นเช่นเดียวกัน...พวกเขาทุ่มเทให้กับหน้าที่ของตน เลือกที่จะฝึกฝนพยาบาลรุ่นใหม่ ๆ ลงทุนไปกับงานวิชาการ แม้รู้ว่าโดนจำกัดค่าตอบแทน

สภาพการณ์เช่นนี้ฟ้องว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่ ๆ ผู้เขียนพกความวิตกไปพบแพทย์มะเร็งและเก็บตัวอย่างเลือดโดยพยาบาลซึ่งคุ้นเคยกับผู้เขียนมาหลายปีกระทั่งเราคุยเรื่องลูก ๆ ของกันและกันอย่างเปิดอก หลังจากที่เธอถอนเข็มและปิดพลาสเตอร์แล้ว ผู้เขียนถึงกับอึ้งเมื่อเธอบอกว่ากำลังจะลาออก

เธอมีทีท่าเศร้าสร้อยและพูดไม่ออกระหว่างที่เรากอดกัน ผ่านไปสักครู่เธอจึงเล่าให้ฟังว่าเพื่อนพยาบาลอีกคนก็ลาออกเหมือนกันโดยบอกว่า ‘ทำงานในวอลมาร์ตน่าจะมีความสุขกว่านี้’

ประโยคนั้นทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าปัญหาขาดแคลนพยาบาลจะยิ่งทำให้พยาบาลที่ทำงานหนักอยู่แล้วต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นในอีกไม่ช้า

หมายเหตุ ซูซาน กูบาร์ (ผู้เขียน) ต่อสู้กับมะเร็งรังไข่มาตั้งแต่ปี 2551 ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษประจำมหาวิทยาลัยอินเดียนา โดยมีผลงานเขียนล่าสุดในชื่อ “Late-Life Love”

แปลและเรียบเรียงโดย หฤทัย เกียรติพรพานิช จาก The Nursing Shortage Is Threatening Our Care : The New York Times