ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘อนุทิน’ แจงประกาศโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ให้อำนาจเจ้าพนักงานคุม-สกัดการแพร่โรควงกว้าง แนะการชุมนุมใด ๆ ขอให้ดูสถานการณ์โรค ชี้ทำเพื่อส่วนรวมไม่มีใครได้ใครเสีย “หมอ” ระบุเจ้าพนักงาน มีอำนาจสั่งกัก-ห้ามเดินทางได้ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคอันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558 ว่าเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมดูแลโรค มุ่งเน้นในการควบคุมป้องกันโรคมากกว่าจะมุ่งเอาผิดตามกฎหมาย ช่วงนี้ จริง ๆ สิ่งที่เราพยายามแนะนำคือหากไม่จำเป็นก็พยายามอย่าเดินทางไปประเทศเสี่ยง ถ้าไปก็ขอให้ระมัดระวัง คนในประเทศก็กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น ถ้าทำได้ก็เป็นผลดีกับตัวเอง แล้วสมมติเกิดมีการชุมนุม การประชุมอะไรที่มีคนเยอะ ๆ เราก็ได้พูดไปแล้วว่าถ้าเลี่ยงได้ก็ขอให้เลี่ยง ซึ่งหลายหน่วยงานประกาศเลื่อน ประกาศยกเลิกไป

“แต่ถ้าจะมีการชุมนุมในช่วงนี้ก็ขอดูสถานการณ์ของโรคด้วย มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดื้อมากมายหรือไม่ และดูแล้วเข้าไปในที่แออัด ถ้าคาดว่ามีคนที่เจ็บป่วย มีอาการก็ขอให้แนะนำให้เลื่อน ถ้ายังจะชุมนุมต้องดูตามสถานการณ์ อาจจะขอไม่ให้มีการชุมนุม เป็นต้น หวังว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ เพราะเป็นประโยชน์ของทุกคน ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะมีใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ถ้าไม่ทำจะมีแต่ผลเสีย ดังนั้นขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือเต็มที่” นายอนุทิน กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงสามารถยื่นเรื่องต่อนายจ้างเรื่องการหยุดงาน และทำงานในพื้นที่เฉพาะได้ รวมถึงเป็นประโยชน์ในการนำเข้ายาที่มีรายงานว่าสามารถรักษาโรคได้ แม้ว่าจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนก็ตาม ทั้งนี้ย้ำว่าประเทศไทยยังไม่ได้เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3

ผู้สื่อข่าวถามว่าในระดับบุคคลพฤติกรรมเช่นใดจะถือเป็นการขัดคำสั่งตามประกาศนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากเจ้าพนักงานสั่งให้ใครอยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แล้วเจ้าตัวละเลย สามารถเอาผิดตามกฎหมายนี้ได้ หรือเจ้าพนักงานยังสั่งไม่ให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ ประกาศนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ มีเครื่องมือในการควบคุมป้องกันโรคเพื่อทำให้เราคงสถานการณ์ระดับ 2 ไปให้นานที่สุด หรือเมื่อเข้าสถานการณ์ระดับ 3 ก็จะชะลอผู้ป่วยไม่ให้มากเกินไป

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือช่วงที่มีการกระจายโรค แล้วมีคนไข้ถูกให้อยู่ รพ. แล้วไม่ยอมอยู่ เพราะคิดว่าตัวเองมีอาการไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ต่างชาติ พอพูดกันไม่รู้เรื่องก็ขึ้นแท็กซี่ออกไปเลย ถือว่าอันตรายมากและเสี่ยงเป็น Super Spreader หรือผู้ป่วยที่มีความสามารถในการแพร่โรคสู่คนอื่นทีละมาก ๆ บางครั้งมีฝรั่งไปประเทศเสี่ยง ก่อนเดินทางมายังประเทศไทย แล้วเข้า รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่าตัวเองไม่เป็นอะไรแล้วจะขอไปนอนที่คอนโด ถ้ามีประกาศนี้เราจะสั่งได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบทกำหนดโทษต่ำสุดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ