ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงนี้มีกระแสเรียกร้องให้นำชุดตรวจโควิด-19 แบบ rapid test มาใช้คัดกรองผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดี ในช่วง 3-4 วันมานี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและอาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ได้พยายามออกมาบอกว่าการตรวจแบบนี้ ระยะเวลาในการตรวจพบเชื้อนั้น "ช้า" กว่าการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสแบบ RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจหลักในขณะนี้ ที่สำคัญคือไม่ว่าจะตรวจแบบไหน ตัวเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มี window period หรือระยะที่ตรวจหาเชื้อไม่เจอประมาณ 3-5 วันหลังจากร่างกายได้รับเชื้อ ดังนั้นประชาชนไม่ควรซื้อมาใช้เองเพราะอาจเกิดความผิดพลาดในการแปลผล ถ้าผลเป็นลบอาจทำให้วางใจว่าตัวเองไม่ติดเชื้อแล้วออกไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

ถ้าอย่างนั้นชุดตรวจ rapid test แบบตรวจหาภูมิคุ้มกัน เหมาะจะใช้กับสถานการณ์แบบไหน?

ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า การตรวจภูมิคุ้มกันด้วยชุดทดสอบ Rapid Test นั้น หมายถึงเร็วในห้องแล็บ แต่ไม่ได้เร็วโดยระยะเวลาของโรค การจะตรวจเจอเชื้อไวรัสต้องให้ระยะเวลาผ่านไปพอสมควรก่อนเพื่อให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้าน ใช้เวลา 10 วันขึ้นไป ดังนั้น การจะไปตรวจผู้มีสัมผัสเชื้อมาได้ 2-3 วัน ตรวจอย่างไรก็ไม่เจอ

ดังนั้น การตรวจด้วย RT-PCR จะตรวจเจอได้ก่อน ส่วน Rapid Test จะใช้ได้เมื่อคนไข้เป็นมาเยอะแล้ว

ผศ.นพ.กำธร ให้ความเห็นว่า การติดเชื้อในแต่ละช่วงจะใช้ชุดตรวจที่แตกต่างกัน โดยส่วนตัวเห็นว่าประโยชน์ของชุดตรวจ rapid test ชนิดหาภูมิคุ้มกันในขณะนี้มี 2 ประเด็น คือ 1.ในกรณีที่มีผู้ป่วยปอดบวมเข้ามาแล้วไม่ทราบว่าเป็นอะไร การที่ปอดจะบวมได้แสดงว่าต้องติดเชื้อมาแล้วหลายวัน ซึ่งวิธีการตรวจด้วย Rapid Test จะได้ผลเร็ว ทำให้แพทย์ให้การรักษาได้เร็วขึ้น และ 2.ใช้ตรวจย้อนหลัง กรณีอาจมีผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ก็ใช้ตามรอยได้ว่าติดเชื้อหรือไม่

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การตรวจแบบ RT-PCR เพื่อดูสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเป็นการตรวจหลัก มีความแม่นยำสูง ส่วน Rapid Test ไม่จำเป็น จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้

"Rapid Test จะมาช่วยในกรณีที่ผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล ถ้าตรวจออกมาเป็นผลบวก อย่างน้อยบุคลากรจะได้ระวังป้องกันตัวไม่ว่าผู้ป่วยจะยอมเปิดเผยประวัติความเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม ส่วนตัวผู้ป่วยจะต้องเข้ากระบวนการยืนยันด้วย RT-PCR อีกครั้งหนึ่งว่ามีไวรัสในร่างกายจริงหรือไม่" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ให้ความเห็นอีกว่า Rapid Test จะมีประโยชน์อีกประการคือกรณีผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยมีอาการรุนแรงแล้ว ส่วนใหญ่จะเกิน 1 สัปดาห์แล้ว มีภูมิคุ้มกันในกระแสเลือดสูงแล้ว หรือในกรณีผู้ป่วยที่เก็บสิ่งส่งตรวจจากหลังโพรงจมูกไม่ได้เนื่องจากต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ใช้ Rapid Test เจาะเลือดเพื่อตรวจได้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวสรุปว่า Rapid Test ไม่ใช่ของวิเศษที่จะใช้ทดแทนหรือทุกคนต้องตรวจ เพราะถ้าแปลผลไม่ดีจะเป็นอันตราย และเน้นย้ำว่าที่ดีที่สุดคืออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพราะโรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน