ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในขณะที่เชื้อโควิด-19 กำลังระบาดใน 180 ประเทศทั่วโลก รัฐบาลในหลายประเทศได้ประกาศมาตรการ “ล็อกดาวน์” และปิดสถานที่ทำงาน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค

แต่นั่นก็นำมาสู่อุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งมีรายงานว่าไม่สามารถเดินทางไปรับการรักษาและรับยาตามสถานพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง

เช่นในกรณีของอินเดีย มีรายงานว่าผู้ป่วยเอชไอวีในรัฐที่ห่างไกล เช่น รัฐโอริศาและรัฐพิหาร ไม่ได้รับยาตั้งแต่เดือน มี.ค. สืบเนื่องจากมาตราการล็อกดาวน์ของรัฐบาลอินเดีย ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคมไม่สามารถส่งยาตามบ้านได้ เพราะจะทำให้สมาชิกชุมชนรู้สถานะของผู้ป่วย และนำไปสู่การตีตรา

ในออสเตรเลีย ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ต่างแสดงความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่ยาต้านไวรัสจะขาดตลาด เนื่องจากการกักตุนยาและสินค้า อันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะที่ในไทย ยังไม่มีรายงานยาต้านไวรัสขาดแคลน แต่สถานพยาบาลหลายแห่งกำลังเฝ้าระวังในเรื่องนี้

ด้านอินโดนีเซีย สื่อจาร์การตาร์โพสต์รายงานว่าเริ่มเห็นปัญหายาต้านไวรัสขาดแคลน เพราะระบบลอจิสติกชะงัก โดยเฉพาะเส้นทางอากาศ อินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาต้านไวรัสหลัก จึงไม่สามารถส่งยามาอินโดนีเซียได้มาตามกำหนด

นพ.ณัฐเขต แย้มอิ่ม ผู้ก่อตั้งพัลซ์คลินิก (Pulse Clinic) ซึ่งให้บริการตรวจดูแลสุขภาพทางเพศในประเทศไทย ฮ่องกง และมาเลเซีย กล่าวว่าเมื่อรัฐบาลหลายประเทศประกาศมาตรการ “ล็อกดาวน์” เกิดสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อติดเอชไอวีติดอยู่ในบางเมือง หรือบางประเทศ ทำให้ไม่สามารถกลับไปรับยาในประเทศของตน หรือไม่สามารถหายาสูตรเดียวกันกับที่ตนใช้เป็นประจำมาใช้อย่างต่อเนื่องได้

“ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือยุโรป เขามักใช้ยากลุ่มใหม่ที่ออกมาล่าสุดในการรักษา แต่ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นแถบบ้านเราไม่มียากลุ่มใหม่แบบนั้น ชาวต่างชาติที่ติดอยู่ในประเทศที่มียาคนละสูตรจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรยา หรือบางรายไม่สามารถรับยาต่างประเทศได้” นพ.ณัฐเขต กล่าว

“หากขาดยา 2-3 สัปดาห์ อาจเกิดการกลายพันธุ์ที่ทำให้เชื้อดื้อยาได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีดื้อยาภายหลังการระบาดของโควิด”

นพ.ณัฐเขต กล่าวว่า ภายหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 ปริมาณยาตานไวรัสในท้องตลาดลดลง เนื่องจากจีนเป็นผู้ส่งออกหลักของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัส โดยร้อยละ 70-80 ของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสอยู่ในมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นแหล่งระบาดแรกของเชื้อโควิด-19

เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา การผลิตและการส่งออกวัตถุดิบจากจีนต้องชะงัก ทำให้อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตยาต้านไวรัสหลักของโลกได้รับผลกระทบตามกัน

จีนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลักในการทำยาสามัญหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ยาแก้อักเสบ ยาลดความดันและเบาหวาน รวมไปถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งมีมูลค่าส่งออกรวมมากว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.8 แสนล้านบาทในปี 2561

“ปกติ ประเทศต่างๆ จะสำรองวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาต้านไวรัสไว้ที่ 4-5 เดือน แต่อินเดียสำรองไว้ที่ 2-3 เดือน และอินเดียก็ซื้อวัตถุดิบจากจีนถึง 80% การผลิตที่อินเดียเลยขาดช่วง ส่งผลให้ยาเริ่มขาดตลาดและมีราคาแพงขึ้น” นพ.ณัฐเขต กล่าว

“สำหรับในประเทศไทย เราได้ติดต่อไปยังองค์การเภสัชกรรมซึ่งผลิตยาต้านไวรัส และทราบว่าได้สำรองยาอย่างเพียงพอ ไม่น่าจะมีปัญหาขาดแคลน”

อย่างไรก็ดี นพ.ณัฐเขตกล่าวกล่าวว่าหากประเทศไทยมีการเพิ่มมาตรการเข้มงวดขึ้น เช่น มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาล อาจต้องมาคิดเรื่องการส่งยาให้คนไข้ถึงบ้าน

โดยต้องคำนึงถึงผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศอื่นๆ ด้วย เช่น โรคซิฟิลิสระยะแฝง และไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของโรคซิฟิลิส ผู้ป่วยในระยะแฝงต้องฉีดยา 1 เข็มต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ ในส่วนของโรคไวรัสตับอักเสบซีต้องกินยาเม็ดวันละครั้ง เป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือนซึ่งมีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายขาดการรักษาไป

“การแก้ปัญหานี้ ในระยะสั้น เราต้องสำรองยาให้เพียงพอ แต่ในระยะยาว เราต้องหาแหล่งผลิตวัตถุดิบอื่นเพิ่ม จะพึ่งพาแต่วัตถุดิบจากจีนอย่างเดียวไม่ได้ และต้องมีการดูแลจัดการให้การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง” นพ.ณัฐเขต เสนอ

“นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องให้บริการโดยให้เกียรติและไม่ตีตรากลุ่ม LGBT หรือผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี หรือผู้ที่มีการใช้สารเสพติดซึ่งยังคงถูกตีตราค่อนข้างสูงในสังคม ถ้าเขาเดินมารักษา ควรชื่นชม ให้ความเป็นมิตร สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และจ่ายยาให้เพียงพอ”

นพ.ณัฐเขต ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการใช้คำว่า “Social distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ในการทำมาตรการหยุดเชื้อโควิด-19 เป็นคำที่ไม่ถูกต้องเพราะส่งผลกระทบทางจิตใจ ทำให้คนรู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ขัดกับธรรมชาติมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมและต้องการความใกล้ชิด ต้องการเข้าสังคม”

“การใช้คำว่า Physical distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางกายน่าจะเหมาะสมกว่า คือ เราสามารถเว้นระยะห่างกันเพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโควิด แต่เราก็ยังสามารถติดต่อกับสังคมได้ ผ่านโซเชียลมีเดีย การส่งข้อความหากัน ยังสามารถรักษาสุขภาพทางสังคม และสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วย”

*สำหรับผู้ที่ต้องรับยาต้านไวรัส แต่ไม่สามารถเดินทางไปรับยาต่อเนื่อง สามารถติดต่อพัลซ์คลินิกเพื่อขอรับความช่วยเหลือในยามฉุกเฉินได้ที่เบอร์ โทร 026525097, 0959156385 (กรุงเทพ) หรือ 076633368, 0952615282 (ภูเก็ตและภาคใต้)

**อัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กับ การดูแลสุขภาพทางเพศ ได้ที่ COVID-19 and HIV update, COVID-19 and Sexual Health และ COVID-19 and PrEP

เรื่องที่เกี่ยวข้อง