ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เตรียมยื่นหนังสือถึง “อนุทิน” วันจันทร์นี้ ขอพิจารณาแต่งตั้ง “ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษ” ให้แก่ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภคโรงพยาบาลชุมชน ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมิน ให้ครบถ้วนตามกรอบอนุมัติ หลังหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2563 ภก.ทรงวุฒิ สารจันทึก รองประธาน ปฎิบัติหน้าที่ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์สำนักข่าว HFocus ประเด็นการเข้ายื่นหนังสือถึง นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สธ. เพื่อขอให้แต่งตั้ง “ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษ” ให้แก่หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภคโรงพยาบาลชุมชน ส่วนที่ยังตกค้าง ในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย. นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2557 หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจัดสรรตำแหน่งเพิ่มเติม ตามที่ ก.พ. ได้อนุมัติให้สามารถดำรง “ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษ” ได้และเริ่มมีการแต่งตั้งปี 2551 เป็นต้นมา

ภก.ทรงวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ได้รับการแต่งตั้งแล้วจำนวน 388 ตำแหน่ง จากโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 782 แห่ง คงเหลือที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง จำนวน 394 แห่ง ในจำนวนที่เหลือนี้ มีผู้คุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมิน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งได้ จำนวน 208 แห่ง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การแต่งตั้งหยุดชะงักไปนั้น ไม่แน่ใจว่ามาเกิดจากอะไร แต่พบว่าได้มีหนังสือจากปลัด สธ. ถึงผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ให้อำนาจเขตพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่ง ตามงบประมาณบริหารงานของตน ซึ่งอาจจัดสรรจากการยุบรวมตำแหน่ง เป็นต้น

“การออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เราต้องการให้ สธ. ดำเนินการแต่งตั้งตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษ ให้แก่หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ทุกคน ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ ตามที่ ก.พ. ได้มีการเปิดกรอบอนุมัติไว้แล้ว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่วิชาชีพ การโยนให้แต่ละเขตหางบประมาณเพื่อจัดสรรและแต่งตั้งเอง โดยเฉพาะแนวทางยุบรวมตำแหน่งนั้น ในทางปฏิบัติอาจส่งผลกระทบต่อวิชาชีพอื่นๆ และให้เกิดความขัดแย้งของผู้ปฏิบัติงานได้” ภก.ทรงวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ทุกแห่ง ต่างมีหน้าที่รับผิดชอบและต้องทำงานหนักเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ โดยเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในระบบ Medical Supply and Logistic ทำหน้าที่บริหารจัดการความพอเพียงของยา เวชภัณฑ์ ให้คำปรึกษา และแก้ปัญหา แก่สถานพยาบาลทุกแห่งในอำเภอของตน ทั้งใน รพ.สต. รวมถึงของท้องถิ่น อบต. และเขตเทศบาล ขณะเดียวกันในสถานการณ์ระบาดฉุกเฉินที่สำคัญ อย่างภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ ก็มีหน้าที่สำคัญในการดูระบบการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน (EOC) ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุข โดยเป็นหัวหน้าทีมเภสัชกรระบบเภสัชกรรมโรงพยาบาล และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระบบบริหารเวชภัณฑ์และเภสัชสาธารณสุขอื่นๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง