โรคไข้หวัดนก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ type A ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งก่อการให้เกิดการติดเชื้อทั้งในมนุษย์ และสัตว์หลายชนิด เช่น ม้า สุกร แมว นก ไก่ เป็นต้น การเกิดโรคในสัตว์โดยเฉพาะในสัตว์ปีกเกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปีแล้ว มีการระบาดเป็นครั้งคราวในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และอิตาลี โดยปกติโรคไข้หวัดนกติดต่อมายังมนุษย์ได้ไม่ง่ายนัก แต่พบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (Influenza A H5N1) มีการติดต่อถึงคนเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อปี 2540 และตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสหรัฐอเมริกา ชิลี จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยี่ยม จนกระทั่งปลายปี 2546 – 2547 มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย ไต้หวัน กัมพูชา ญี่ปุ่น ลาว ปากีสถาน ฮ่องกง และจีน
การระบาดและสกัดกั้นไข้หวัดนกในไทย
การระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์และคนเกิดขึ้นจำนวนสามรอบตั้งแต่ปลายปี 2546 การระบาดในสัตว์ปีก พบว่ามาตรการการควบคุมและป้องกันโรคระบาดและสถานการณ์การเกิดโรคในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีมาตรการการควบคุมป้องกันโรคที่ดีเยี่ยม มีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูง ประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี ทำให้การระบาดของโรคไข้หวัดนกแต่ละครั้งเกิดในวงจำกัด สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป ลาว และกัมพูชา ยังมีระบบการป้องกันโรคที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย การให้บริการทางสัตว์แพทย์และการตรวจวินิจฉัยโรคยังไม่ทั่วถึง
เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกได้เบาบางลง แต่ประเทศไทยยังคงไม่สามารถประกาศปลอดโรคได้ ระบบการเฝ้าระวังในสัตว์นั้นในการระบาดรอบแรก มุ่งเน้นในการยืนยันเชื้อไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก และการสำรวจสุ่มตัวอย่างเพื่อใช้ข้อมูลในการควบคุมและการทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่ติดเชื้อโดยการตรวจเชื้อสามารถทำได้เฉพาะที่ส่วนกลางเท่านั้น เมื่อเกิดการระบาดในรอบที่สองได้มีการเปลี่ยนแนวทางในการเฝ้าระวังโดยใช้ลักษณะทางอาการและการตายมากกว่าร้อยละ 10 ของสัตว์ปีกในพื้นที่ กำหนดพื้นที่การออกมาตรการควบคุมและทำลาย และเพิ่มศักยภาพทางห้องปฏิบัติการในระดับภูมิภาคสามารถตรวจสอบยืนยันเชื้อไข้หวัดนกได้ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการ x-ray ทุกพื้นที่เพื่อค้นหาแหล่งการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อของไข้หวัด ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ และการพัฒนาระบบการรายงานโรค
การระบาดในคน สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการระบาดมาสู่คนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2547 โดยเป็นผู้ป่วยเด็กจากสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี ต่อมามีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นเดือนมีนาคม มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 12 ราย เสียชีวิตจาก ARDS และmultiple organ dysfunction syndrome (MODS) จำนวน 8 ราย (67%) ต่อมาในเดือนธันวาคม 2547 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 610 รายจาก 66 จังหวัดที่เข้าข่ายสอบสวนโรค จากการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคไข้หวัดนกมากที่สุดได้แก่ การเก็บเนื้อไก่ที่ป่วยตายไว้ในบ้าน การสัมผัสไก่ที่ตาย และการสัมผัสไก่ที่ป่วย
สำหรับมาตรการสกัดกั้นไข้หวัดนกสู่คน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคได้จัดทำระบบรายงานเร่งด่วน 24 ชั่วโมงเพื่อให้มีการรายงานผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกได้ทันที โดยทีมเฝ้าระวังเคลื่อนที่เร็วของแต่ละอำเภอจะสอบสวนและควบคุมโรคพร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานให้ส่วนกลางทราบทันที การเฝ้าระวังเชิงรุกนั้นได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขในทุกพื้นที่ออกสำรวจผู้ป่วยในหมู่บ้าน และการตายผิดปกติของสัตว์ปีกในบ้านที่รับผิดชอบ และรายงานให้กับศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดนกระดับอำเภอ เพื่อการวางแผนควบคุมโดยใช้ประสบการณ์และข้อมูลที่ได้จากการระบาดในรอบแรก ความร่วมมือและการประสานงานจากหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ การประชาสัมพันธ์และการให้ข่าวสารและความรู้แก่ประชาชน การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน มีระบบป้องกันโรค สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือด้านเงินกู้แก่เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และการวางมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ตลอดจนให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสรางองค์ความรู้สนับสนุนแผนเตรียมความพร้อมกรณีเกิดการระบาดใหญ่
ผลกระทบไทยจากไข้หวัดนก
การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจำนวนสามรอบตั้งแต่ปลายปี 2546 จนถึง 2549 ก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศเป็นอย่างมาก สำหรับประเทศไทยมีการสูญเสียด้านการส่งออกสัตว์ปีกมากกว่า 60,000 ล้านบาท และมีผู้ป่วยจำนวน 22 ราย เสียชีวิต 14 ราย ผลกระทบด้านอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่พื้นบ้านมีความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีการทำลายไก่ไปมากกว่า 60 ล้านตัว อย่างไรก็ตาม ไทยได้รับการยอมรับถึงความสำเร็จในการดำเนินการควบคุมป้องการแพร่ระบาด อันเป็นผลมาจากการทุ่มเทของภาครัฐ และความร่วมมือของภาคประชาชน มีระบบเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งและมาตรการควบคุมที่จริงจัง เนื่องจากโรคไข้หวัดนกได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นของไทย และยังมีโอกาสที่จะกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน ซึ่งจะก่อให้เกิดการระบาดที่รุนแรงก่อให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยที่สามารถตรวจการกลายพันธุ์นั้นได้ และต้องมีความถูกต้อง ทันเวลาของข้อมูล รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนควบคุมป้องกันต่อไป
อ้างอิง
ปรีชา เปรมปรี และคณะ, รายงานการวิเคราะห์สถานการณไข้หวัดนกในประเทศไทย โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ภายใต้แผนงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.).
BBC News, Thailand convenes bird flu summit, http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/3426991.stm
- 5279 views