ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคเพมฟิกัส คืออะไร หาคำตอบได้จากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ จัดเป็นโรคผิวหนังอาการรุนแรง ส่วนใหญ่พบอายุเฉลี่ย 50-60 ปี พบได้ทั้งชายและหญิง ย้ำไม่ใช่โรคติดต่อ รักษาหายได้

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าว หนุ่มใหญ่ อายุ 52 ปี ชาวจังหวัดพิษณุโลกป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีอาการผิวหนังเป็นตุ่มใสๆ ทั้งตัว มีน้ำเหลืองไหล อาการลุกลามจนแผลเริ่มเน่า เป็นมากว่า 3 เดือน จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าผู้ป่วยได้มาตรวจรักษาที่สถาบันโรคผิวหนัง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 พบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองเรื้อรังซึ่ง เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้มีการสร้างแอนติบอดีมาทำลายการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนังผิวหนัง จึงหลุดลอกออกจากกันได้ง่าย ประกอบกับปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมมีส่วนในการกระตุ้นโรคด้วย

“โรคนี้พบไม่บ่อยแต่จัดเป็นโรคผิวหนังที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี อย่างไรก็ตามโรคนี้เกิดได้กับทุกวัย รวมถึงในเด็กเพศชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคเท่ากัน ซึ่งโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้ สำหรับเคสนี้สถาบันโรคผิวหนังได้ให้การรักษา ตัดชิ้นเนื้อ ตรวจเลือด วางแผนการรักษา ประสานส่งกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด และนัดติดตามอาการ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเพมฟิกัส อาการจะเริ่มจากมีแผลถลอกเรื้อรังที่บริเวณเยื่อบุในปาก โดยเฉพาะที่เหงือกหรือกระพุ้งแก้ม ตามมาด้วยตุ่มพองหรือแผลถลอกบริเวณผิวหนัง และมักขยายออกกลายเป็นแผ่นใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดแสบมาก แผลถลอกอาจปกคลุมด้วยสะเก็ดน้ำเหลือง ในระยะนี้หากมีการติดเชื้อแทรก จะทำให้แผลลุกลามและควบคุมได้ยาก ผู้ป่วยโรคเพมฟิกัสแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน วินิจฉัยได้จากประวัติและอาการทางผิวหนัง ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยจะต้องแยกจากโรคกลุ่มตุ่มน้ำพองอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเพมฟิกอยด์ ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้การตรวจแยกชนิดเพมฟิกัสเป็นชนิดลึกและชนิดตื้น มีความสำคัญในการเลือกการรักษา ผู้ป่วยเพมฟิกัสชนิดตื้นจะมีความรุนแรงน้อยกว่าและตอบสนองต่อการรักษาดีกว่า

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ยาที่ใช้รักษาหลักคือ ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน โดยใช้ในขนาดสูง 0.5-1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคมาก หรือมีผื่นในบริเวณกว้าง จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นๆ เช่น ยาไซโคฟอสฟาไมด์ หรือยาอะซาไทโอปรีนร่วมด้วย ในระยะนี้การรักษามีจุดประสงค์ในการลดการเกิดตุ่มน้ำใหม่และเร่งการสมานแผลให้เร็วที่สุด ซึ่งมักใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แผลจึงสมานหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่อโรคเริ่มสงบ แพทย์จะปรับลดยาลงช้าๆ โดยใช้ยาที่น้อยที่สุดที่จะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังรักษา 3 - 5 ปี โดยอาจมีอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานานและอาจเสียชีวิตจากความรุนแรงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด แต่พบว่าควบคุมโรคได้ดีขึ้นและมีผลทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบได้ดีขึ้น ยาในกลุ่มใหม่ ได้แก่ ยาฉีดไซโคฟอสฟาไมด์ ยาอิมมูโนโกลบูลิน และยาริทักซิแมบ ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นการรักษาหลักในอนาคต

พญ.มิ่งขวัญ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟัน ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นโรคที่สำคัญทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง