ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในสถานการณ์ที่การโยกย้ายและตั้งกรรมการสอบสวน นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล อดีตผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น กรณีบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่ารับเงินบริจาคจากบริษัทยา เป็นปมร้อมซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ‘ธรรมาภิบาล’ ในการบริหารกระทรวงสาธารณสุข

ในมุมมองของ นพ.เทียม อังสาชน อดีตประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ผู้สร้างสมความน่าเชื่อถือมาอย่างยาวนานตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งคนในวงการแพทย์จำนวนมากให้การยอมรับ นพ.เทียม ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำไม่ถูกในเชิงบริหาร และธรรมาภิบาลนั้นเป็นเรื่องการทำองค์กรให้โปร่งใส

“อำนาจโยกย้ายเป็นของปลัดกระทรวง โดยช่วงหลังๆ มานี้ บางสมัยก็มีวาระ 2 ปี ถึงจะโยกย้ายได้ ซึ่งจะไม่ให้เกิน 4 ปี ฤดูกาลโยกย้ายอยู่ในช่วงเริ่มปีงบประมาณ ปกติส่วนใหญ่จะเริ่มเดือนตุลาคม หรือช้ากว่านั้นก็คือ พฤศจิกายน โดยธรรมดาเป็นอำนาจปลัดกระทรวง แต่เวลาจะทำอะไรต้องมีกฎ มีระเบียบกันหน่อย ก่อนจะย้ายก็อาจมีการสอบถามความสมัครใจ ซึ่งย้ายได้แม้ว่าจะเพิ่งมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแค่ปีเดียว ช่วงหลังๆ มานี้บางสมัย 2 ปี แต่จะไม่เกิน 4 ปี ยกเว้นบางที่อย่างเช่นผมที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ยาว 13 ปี”

ในขณะที่กระแสการเรียกร้องธรรมาภิบาล เสียงสะท้อนที่ออกมาพุ่งเป้าไปยังผู้มีอำนาจว่าเอื้อต่อกลุ่มที่ใกล้ชิด นพ.เทียมมองประเด็นนี้ว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพราะมีระเบียบ มีวิธีการก่อนจะมีคำสั่งโยกย้าย ปลัดกระทรวงบางคนที่ผ่านมาก็ใช้อำนาจเพียงคนเดียว บางปีเชิญรองปลัดฯ ผู้ตรวจกระทรวง ตัวแทนชมรม มาให้ความเห็น

“หลังจากที่ผมเกษียณแล้ว ก็ยังเคยมีคนโทรมาถามข้อมูลว่าคนนั้นเป็นอย่างไร เพราะบางทีผู้บริหารกระทรวงก็ไม่ได้รู้จักหมอทุกคน การสั่งย้ายสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็แล้วแต่ปลัดที่พิจารณาตามความเหมาะสม ต้องมีเมตตาธรรม ดูเรื่องงาน หรือบางคนอีก 1 ปีจะเกษียณ ขึ้นอยู่กับปลัดกระทรวงว่ามีพรหมวิหารธรรมแค่ไหน” นพ.เทียม กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่า นพ.เทียม จะอธิบายในภาพรวม แต่ประเด็นที่ถูกพูดถึงในขณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ นพ.สุขุม ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ซึ่งนพ.เทียม ยอมรับว่า “สนิทสนมกันดี”

“แต่พฤติกรรมกับวิธีการนพ.สุขุม ทำไม่ถูกในเชิงบริหาร อย่างที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้ว่า มีคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วัน ห้องทำงานยังไม่ได้เข้าไปอยู่ ก็มีคำสั่งแต่งตั้งรองปลัด 4 คน มีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลและ สสจ. วาง 20 กว่าคน แต่ปลัดไปลงนามย้าย 60 คน นี่ไม่ใช่การบริหารที่ดี มันป่วน ถ้าย้ายเอาแค่ตำแหน่งที่ว่างก็จะดี เพราะมีคนสมหวัง 20 ราย อีก 40 รายผิดหวัง ที่สำคัญคือปลัดกระทรวงไม่เคยอยู่ภูมิภาค ว่ากันตามเนื้อผ้าก็คงไม่รู้จักหมอเหล่านั้นแล้วจะไปย้ายเขาได้อย่างไร หรือบางคนก็รู้ล่วงหน้าว่าจะถูกย้ายเพราะปลัดไปพูดก่อน อย่างนี้เสีย จริงๆ นพ.สุขุม มีส่วนดีเยอะนะ”    

นอกจากนี้ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วย สธ. ยังกล่าวอีกว่า หากผู้บริหารถูกมองว่าขาดธรรมาภิบาล สิ่งที่จะตามมาคือการขาดศรัทธา

“พอขาดศรัทธาทุกอย่างตามมาหมด พูดอะไรใครก็ไม่อยากจะเชื่อ ธรรมาภิบาลนั้นเป็นเรื่องการทำองค์กรให้โปร่งใส อย่างที่ พญ.กนกวรรณ ศรีรักษา ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่นออกมาพูด โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยรู้จักคุณหมอกนกวรรณเลย แต่ผมชื่นชมนะ ที่คุณหมอกนกวรรณออกมาเรียกร้องต้องฟัง ต้องแก้ไขตามที่ทางองค์กรแพทย์เรียกร้อง”

แม้ปลัดกระทรวงมีอำนาจที่จะสอบสวน มีอำนาจที่จะโยกย้าย แต่นพ.เทียมเห็นว่า เหตุผลคำสั่งสอบสวนที่ตั้งข้อหา นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล อดีตผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น ว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นถือว่ารุนแรง

“ผมว่ามันแรง เพราะหมายความว่า นพ.ชาญชัย รับเงินราษฎร หรือโกงเงินเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เท่าที่ผมตามข่าวเรื่องนี้มา กรณี นพ.ชาญชัยรับเงินจากบริษัทยาเข้าโรงพยาบาล ถามว่าผิดไหม ถ้ามีมติคณะรัฐมนตรี และ ปปช. เรื่อง 5 เปอร์เซ็นต์บริษัทยา มันก็ผิดระเบียบ แต่บังเอิญปลัดกระทรวงไปตั้งต้นจากบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปกติเขาไม่สนใจกัน สมมติว่าจะทำให้องค์กรสะอาด พอมีบัตรสนเท่ห์มาร้องเรียน ผู้บริหารที่มีพรหมวิหารต้องป้องปราม ยกหูโทรศัพท์หาคุณหมอชาญชัยว่ามีหนังสือร้องเรียนการทำผิดระเบียบ ผมคิดว่าไม่มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนไหนที่ปลัดกระทรวงโทรหาแล้วจะไม่กลัว แต่นี้ไม่ใช่ กลับเอาบัตรสนเท่ห์มาปราบปราม ผมคิดว่าคนในโรงพยาบาลขอนแก่น รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะปกติแล้วพวกหมอไม่ปกป้องผู้อำนวยการนะ มีแต่จะเช็คบิล แค่มีอะไรนิดๆหน่อยๆ ก็จะเช็คบิลผู้อำนวยการอย่างเดียวเลย แต่นี่ออกมาปกป้อง ผมว่าต้องฟัง”

การที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ออกมาทวงถามธรรมาภิบาลการโยกย้ายและตั้งกรรมการสอบสวนในกรณีนี้จนกลายเป็นกระแสเรียกร้องที่ขยายวงกว้างออกไป ซึ่งนพ.เทียมกล่าวย้ำอีกครั้งว่าธรรมาภิบาลนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

“บรรดาแพทย์มีความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกหมอส่วนใหญ่เป็นประเภทเห็นความอยุติธรรมแล้วตัวสั่น เรื่องเลยบานปลายกลายเป็นผู้ใหญ่ไม่มีธรรมาภิบาล ประเด็นอยู่ตรงนี้ การตั้งข้อกล่าวหารุนแรงไป แถมหาว่าไปข่มขู่อีก แล้วพอไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์พูดสับสนไปมา นอกจากนี้ยังย้ายอีกคนมาอยู่แทน นั่นก็ทำให้คนมองว่าเป็นการย้ายมาโรงพยาบาลขอนแก่น ครั้งที่ 2 แล้ว นี่เป็นเหตุหรือเปล่า เลยทำให้ นพ.ชาญชัยถูกรังแก”

เมื่อถามว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี สธ. และปลัด สธ. ควรเป็นอย่างไร นพ.เทียม ตอบทันทีว่า “อย่าไปยุ่งเกินเพราะเป็นเรื่องการเมือง”

“นักการเมืองเราไปโกรธเขาไม่ได้ เพราะเป็นกติกาใหญ่ มีรัฐสภา รัฐมนตรีก็ต้องเป็นนักการเมือง ถ้าหมออยากเป็นรัฐมนตรีก็ต้องไปเล่นการเมือง ส่วนตัวผผมคิดว่ารัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ติดดิน แต่บังเอิญท่านพลาด 2 เรื่อง ผมเองก็เสียดาย ผมว่าท่านเป็นคนดี ในขณะที่ปลัดสุขุม ก็เป็นหมอที่ดี ผมสนิทพอสมควร แต่เชิงบริหารพลาดหลายครั้ง จะเกษียณอยู่แล้วไม่น่าทำ อีกแค่ 3 เดือนเท่านั้น บางประโยคไม่ควรพูด เช่นต้องทำตามหน้าที่กระทรวงจะแตกก็ยอม หน้าที่ของท่านคือการทำให้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ และมีธรรมาภิบาล จะให้กระทรวงแตกไม่ได้”   

ส่วนกรณีที่กระทรวงมีประกาศรับสมัครย้ายข้าราชการ ให้ขอทำเรื่องย้ายตามความเหมาะสมและความประสงค์ของเจ้าตัวที่ต้องการย้ายไปหน่วยราชการอื่น นพ.เทียม ให้ความเห็นว่า

“ถูกต้องหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ เพราะคำสั่งทุกคนรับรู้ มีหนังสือเวียนแจก มีการสมัคร แต่ตรงนี้ก็มีข้อเสียคือทำให้พี่น้องขัดแย้งกันว่าจะมาเลื่อยขากันหรือไม่ โบราณที่เคยเป็นไม่มีกรณีแบบนี้ ถ้าพี่ยังอยู่ก็ไม่ไปทับตำแหน่งของพี่ คำนวณกันเลยด้วยซ้ำว่าพี่เหลืออายุราชการกี่ปี ถ้าพี่อยู่ก็ไม่ไป เรื่องนี้อยู่ที่ตัวปลัดกระทรวงว่ามีธรรมะในใจในการบริหารหรือไม่ อำนาจมีไว้เพื่ออำนวย คืออำนวยความสะดวกให้น้องๆ และผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทำงาน ถ้าอำนาจมีไว้พิฆาตก็จะมีคนที่โดนรังแก” นพ.เทียม กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง