ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า" กับมุมมองการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์กรณีมีการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

 

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

คนไทยทั้งประเทศหวาดหวั่นกับการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะจะเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสาธารณสุขอย่างมาก ดังนั้นทุกสถานพยาบาลจึงเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 การระบาดของโรคในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะได้รับรู้ข่าวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่สังคมอาจไม่ได้รับรู้ว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยวิกฤตได้รับผลกระทบอย่างมาก ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในการรับมือโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ดังนี้

1. การจัดระบบบริบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 กับโรคอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหรือต้องรับการรักษาต่อเนื่อง เพราะถ้ามีการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชน ผู้ป่วยต้องถูกจำกัดการเดินทาง และผู้ป่วยโรคอื่นก็ไม่สะดวกในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเดียวกันกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งหมดก็ต้องทุ่มเทไปในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด -19 ดังนั้นถ้าเราไม่ได้เตรียมความพร้อมของระบบบริบาลกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นไว้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ขอนแก่นโมเดล คือ การกำหนดให้โรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่หลักในการรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นรับผิดชอบรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 กรณีเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคนในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และทำหน้าที่หลักในการรับรักษาผู้ป่วยโรคอื่นที่อาการวิกฤต แทนโรงพยาบาลขอนแก่น

การจัดระบบบริบาลข้างต้นส่งผลให้ผู้ป่วยทุกโรคได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และมีการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อในโรงพยาบาลหรือการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ได้ รวมทั้งเป็นการสำรองทีมของบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย

2.การพัฒนาระบบการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล (tele-medicine และ tele-pharmacy) เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการเดินทาง ส่งผลให้ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ และทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ระบบการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกลนั้น โดยใช้เทคโนโลยีที่คนไทยส่วนใหญ่มีและคุ้นเคยใช้เป็นประจำ เช่น ไลน์ที่มีในโทรศัพท์มือถือทุกคนนั้นสามารถนำมาใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย โดยผู้ป่วยและแพทย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน รวมทั้งใช้ในการบริบาลของเภสัชกรได้ด้วย ที่ผ่านมานั้นที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้ใช้ไลน์ในการพัฒนาระบบการส่งยาถึงบ้านของผู้ป่วย และมีการติดตามผลการรักษา การให้คำแนะนำด้านการใช้ยาโดยเภสัชกรถึงบ้านผู้ป่วยได้ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 และมีการ lockdown นั้น สามารถส่งยาถึงบ้านให้ผู้ป่วยได้ถึง 400-500 รายต่อวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางคนที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง เช่น โรคลมชักต้องได้รับยากันชักรุ่นใหม่ ซึ่งไม่มียาชนิดนี้ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน แต่ขาดการประสานงานกับโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดยากันชักชนิดนั้น จึงเกิดการชักแบบต่อเนื่อง (status epilepticus) ถ้าระบบการส่งยาถึงบ้านได้ถูกพัฒนาและมีการเตรียมพร้อม ปัญหาของผู้ป่วยขาดยาก็จะได้รับการแก้ไข ไม่เกิดปัญหาขึ้น

3.การออกแบบระบบบริบาลผู้ป่วยแบบ new normal ได้แก่

N : No crowded

E : Electronic Medical Record

W: Washing hand and Wearing Mask

N : New track

O : Official line

R : Reserve

M : Mall

A : Alliance

L : Less time

คือ การออกแบบระบบบริบาลที่ไม่แออัด เวชระเบียนอิเล็กทรอนิค การล้างมือ สวมหน้ากาก การให้บริการระบบใหม่ เช่น การนัดเหลื่อมเวลา การให้บริการนอกเวลาราชการ เป็นต้น การใช้ไลน์ในการประสานงานติดต่อผู้ป่วย และการให้ความรู้ประชาชน การสำรองทรัพยากรให้เพียงพอ การให้บริการที่ห้างสรรพสินค้า เพื่อลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล การมีเครือข่ายระบบบริการ และการลดระยะเวลาให้บริการแต่ละกิจกรรม (lean)

4.การสร้างความรู้ให้กับประชาชนต่อความเข้าใจในโรคโควิด-19 ที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดการตระหนกตกใจ จนเกิดการกลัวมากเกินไป รวมทั้งการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ควรสร้างข่าวปลอม หรือการส่งต่อข่าวที่ไม่เป็นความจริง

5.การสนับสนุนให้ประชาชนมีกิจกรรมจิตอาสา และการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างทั่วถึงและเป็นระบบโดยภาครัฐ

6.การคัดกรองและสืบค้นผู้ป่วยอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ไม่ทำแบบเวี่ยงแห หรือไม่เป็นระบบ

7.การกำหนดห้ามกิจกรรมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่การหยุดห้ามทุกกิจกรรม เพื่อจะได้ลดผลกระทบต่อภาพรวมชองประเทศได้

การเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 อย่างมีสติและรอบครอบ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทุกๆโรคได้รับผลกระทบ อย่าทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างไปที่การบริบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง