ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มะเร็งคือโรคที่ทำให้ชาวโลกเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจ ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งถึง 18 ล้านคน (จากตัวเลขปี 2562) (1) และมีอัตราการเสียชีวิตถึง 15.7% มะเร็งเป็นที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวมากที่สุดโรคหนึ่งและทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกว่าเมื่อเป็นมะเร็งแล้วเหมือนกับถูกพิพากษาประหารชีวิตให้ตายทั้งเป็น ดังนั้นคนที่ป่วยด้วยโรคนี้จึงมีทั้งที่ถอดใจจากการรักษาและคนที่พยายามตะเกียกตะกายหาทางรักษาไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม

          การพยายามรักษาโรคมะเร็งทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษามากมาย หลายกรณีเป็นความเข้าใจผิดโดยบริสุทธิ์ใจ แต่หลายกรณีเป็นการปั้่นน้ำเป็นตัวเพื่อหวังผลบางอย่าง ทำให้โรคมะเร็งเป็นตัวการสร้างข่าวปลอมที่มากที่สุดอย่างน้อยก็จากการสำรวจในปี 2562 ในสหรัฐอเมริกา

            ก่อนอื่นเราต้องรู้ปัจจัยเบื้องหลังที่ช่วยกระจายข่าวปลอมกันเสียก่อน จากการสำรวจโดย Pew Internet & American Life  พบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพออนไลน์ ซึ่งอาจจะหมายความว่าชาวอเมริกันให้ความสนใจเรื่องดูแลสุขภาพแต่ก็อาจจะหมายความว่าพวกเขากลัวที่จะล้มป่วยหรืออาจกำลังล้มป่วยด้วยโรคบางอย่าง  ในประเด็นนี้เราสามารถอนุมานได้ว่าเป็นเหตุผลหลังเพราะปรากฎว่าในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตข่าวปลอมที่แพร่หลายที่สุดในปี 2562 เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่ไม่ได้รับการพิสูจน์และข่าวปลอมเรื่องวัคซีน

            ตัวอย่างข่าวปลอมที่สร้างการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย (Engagement) มากที่สุดคือบทความเกี่ยวกับโรคมะเร็งในปี 2562 เรื่อง  "Cancer industry not looking for a cure; they're too busy making money," (อุตสาหกรรมที่หากินกับโรคมะเร็งไม่ต้องการหาวิธีรักษา พวกเขายุ่งอยู่กับการหาเงิน) ที่อ้างว่ากลุ่มผู้ทรงอิทธิพลด้านการแพทย์รวมถึงแพทย์และองค์กรด้านสุขภาพของรัฐกำลังปกปิดวิธีรักษาโรคมะเร็ง บทความนี้สร้างการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียถึง 5.4 ล้านครั้งในเพจ Natural News ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับสุขภาพที่มีผู้ติดตามเกือบ 3 ล้านคนจนกระทั่งถูกเฟซบุ๊คปิดในเดือนมิถุนายน 2563 เนื่องจาก "ให้ข้อมูลที่หลอกลวงหรือไม่ถูกต้อง" เพื่อที่จะดึง Engagement ของสมาชิกโซเชียลเน็ตเวิร์ก (2)

            ในอินเดียมีกรณีของช่องยูทูบ Gharelu Nuskhe (homemade recipes) ที่มีสมาชิก 1.09 ล้านคนมีคลิปวิดีโอหนึ่งเรื่อง “How To Cure Cancer Naturally” (วิธีการรักษามะเร็งอย่างเป็นธรรมชาติ) โดยในคลิปวิดีโออ้างว่าน้ำมะระสามารถรักษามะเร็งได้ ซึ่งน่าตกใจมากที่มีผู้กดถูกใจ 9.9 พันครั้งและมีการดู 1.3 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังมีความเห็นอีก 656 คนที่แลกเปลี่ยนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพื่อพยายามที่จะยืนยันว่าวิธีการรักษาทางเลือกสามารถรักษามะเร็งของพวกเขาหายได้อย่างไร (3)

            อีกตัวอย่างคือข่าวเรื่อง Florida woman recovers from breast cancer with trial vaccine (หญิงฟลอริดาฟื้นตัวจากมะเร็งเต้านมด้วยวัคซีนระยะทดลอง) ของสำนักข่าว Fox รายงานข่าวนี้สร้างการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียถึง 1.8 ล้านครั้ง แม้จะมีความถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ใช้วิธีการเขียนข่าวและพาดหัวข่าวที่กระตุ้นเร้าความรู้สึกของผู้อ่านมากเกินความจริง เพราะความจริงแล้วผู้หญิงคนนี้ไม่ได้รักษาหายด้วยวัคซีนแต่ต้องผ่านการผ่าตัดนำเอาเต้านมออกทั้ง 2 ข้าง (2)

            นอกจากนี้ข่าวปลอมเรื่องมะเร็งยังกระโดดข้ามไปพัวพันกับข่าวปลอมเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น มะเร็งกับฟลูออไรด์ เนื่องจากฟลูออไรด์ถูกเติมลงในน้ำดื่มในหลายๆ ประเทศ เป็นผลให้มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากฟลูออไรด์ โดยมีเว็บไซต์จำนวนนับไม่ถ้วนที่เชื่อมโยงผลของการรับฟลูออไรด์กับโรคมะเร็ง โรคหัวใจข้อบกพร่อง โรคโลหิตจาง หรือแม้แต่อาการผิดปกติแต่กำเนิด แต่ไม่มีหลักฐานมารองรับความเชื่อมโยงนี้  มะเร็งกับฟลูออไรด์จึงเป็นอีกหนึ่งข่าวปลอมที่แพร่หลายที่สุดเรื่องหนึ่ง (2)

            ข่าวปลอมเกี่ยวกับวิธีรักษามะเร็งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์มีสัดส่วนคิดเป็นหนึ่งในสามในบัญชีข่าวปลอมเกี่ยวกับมะเร็งทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือการประโคมข่าวว่ากัญชาสามารถรักษามะเร็งได้ และทำให้ข่าวปลอมเรื่องกัญชารักษามะเร็งเป็นหนึ่งในข่าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กับความต้องการของผู้เสพข่าวด้วยเพราะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาและมะเร็งในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น 10 เท่า

            นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยังพบว่าข่าวปลอมที่อ้างว่ากัญชาเป็นยารักษาโรคมะเร็งที่ติดอันดับความนิยมสูงสุดสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียได้ถึง 4.26 ล้านครั้ง ในขณะที่ข่าวที่ให้ข้อมูลแก้ไขข่าวเท็จนี้กลับการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียได้แค่ 3.6 หมื่นครั้ง องค์กรเกี่ยวกับโรคมะเร็งพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องกัญชากัญชาบ่อยครั้ง โดยเฉลี่ยในทวิตเตอร์ 0.7 ทวีตและในเฟซบุ๊ค 0.4 โพสต์แต่มีอิทธิพลต่ำเมื่อเทียบกับข่าวเท็จ โดยข่าวจริงมีแค่ 5.6 รีทวีตในทวิตเตอร์เมื่อเทียบกับข่าวปลอม 527  รีทวีตในทวิตเตอร์ และข่าวจริงสร้างการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊คได้แค่ 98 ครั้งเทียบกับการมีส่วนร่วม 452,050 ครั้งของข่าวปลอม (4)

            นอกจากระดับความแพร่หลายของข่าวปลอมเกี่ยวกับมะเร็วที่มากที่สุดกว่าบรรดาข่าวปลอมอื่นๆ แล้ว ความพยายามที่จะหนีให้พ้นมือมัจจุราชของผู้ป่วยมะเร็งทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้ง่ายด้วย เช่นเดียวกับความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิ่วทำให้พวกเขาต้องแสวงหาวิธีการรักษาที่น่าจะได้ผลและมีราคาถูกกว่า 

            มีรายงานว่าผู้ป่วยที่ใช้วิธีรักษาโรคมะเร็งที่ไม่ได้รับการรับรองมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการรักษาอย่างเป็นทางการ หรือไม่ก็เตะถ่วงไม่ให้มีการรักษาที่จำเป็นเพื่อช่วยชวิตพวกเขา การทำเช่นนี้มีผลต่อความเป็นความตายของพวกเขาโดยตรง ผู้ป่วยที่ใช้วิธีการทางเลือกในการรักษามะเร็งมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนที่รับการรักษาอย่างเป็นทางการมากกว่าสองเท่า (5)

            ยิ่งไปกว่านั้นพวกที่ปล่อยข่าวปลอมเรื่องการรักษาทางเลือกมักจะปล่อยข่าวลือในทางไม่ดีเกี่ยวกับการรักษาอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยรังสีและเคมีบำบัดที่มักถูกป้ายสีว่าเป็นพิษและทำลายชีวิตของผู้รับการรักษา ในเวลาเดียวกับ ผู้ที่ประโคมวิธี "การรักษาทางเลือก" สามารถตักตวงผลประโยชน์จากการปล่อยข้อมูลการรักษามะเร็งที่ไม่ได้รับรองด้วยการระดมทุนหรือเก็บเกี่ยวเงินจากผู้ป่วยมะเร็งที่สิ้นหวังโดยอ้างว่าพวกเขาสามารถให้ความหวังกับผู้ป่วยเหล่านี้ได้

            จากข้อมูลของบทความในวารสาร British Medical Journal  เมื่อปี 2561 พบว่าในสหราชอาณาจักรประเทศเดียว ขบวนการรักษาทางเลือกที่ไม่ได้รับการรับรองหรือถูกเปิดโปงว่าเป็นเรื่องเท็จสามารถระดมทุนเข้ากระเป๋าได้ถึง 8 ล้านปอนด์นับตั้งแต่ปี 2555 เงินเหล่านี้ได้มาจากผู้ป่วยที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา นำบ้านไปจำนองเพื่อนำเงินมา หรือทุ่มเทไปกับเงินออมที่พวกเขาเก็บมาทั้งชีวิต แต่ปรากฎว่าการรักษาจอมปลอมเหล่านี้ไม่ได้ผล พวกเขาต้องเสียทั้งเงินและเสียทั้งชีวิต และสมาชิกครอบครัวยังต้องแบกรับหนี้สินที่คนตายทิ้งไว้ข้างหลังด้วย (6)

            วารสาร Lancet Oncology ถึงกับกล่าวในบทความเรื่อง "Oncology, “fake” news, and legal liability" (วิทยามะเร็ง ข่าวปลอม และความรับผิดตามกฎหมาย) ว่า “สังคมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่คนเลือกวิธีการรักษาที่ไม่ได้รับการพิสูจน์แทนที่จะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่มีหลักฐานยืนยัน แต่น่าเสียดายที่การบิดเบือนข้อมูลและว่ากันตามตรงคือการโกหกนั้น มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและมีความน่าเชื่อถือเท่ากับหลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว”

            บทความสรุปว่า “หากไม่มีการรับมือกับปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้ ความท้าทายเหล่านี้ (ข่าวปลอมและความไม่เชื่อถือของสาธารณะต่อการรักษาทางการ) จะส่งผลให้ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ยกระดับสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลกอย่างมากต้องถูกหักล้างไปโดยง่าย และสังคมจะต้องเสียใจกับการปล่อยปละละเลยนี้และการพึ่งพาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้" (7)

            นี่คือเรื่องน่าเศร้าเพราะข่าวปลอมไม่ได้ทำลายแค่สติปัญญา แต่ทำลายชีวิตของคนที่ดิ้นรนเอาชีวิตรอดและคนที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปเพราะเรื่องเท็จเหล่านี้

           

อ้างอิง

1. Sciacovelli, Marco; Schmidt, Christina; Maher, Eamonn R.; Frezza, Christian (2020). "Metabolic Drivers in Hereditary Cancer Syndromes". Annual Review of Cancer Biology. 4: 77–97.

2. Zadrozny, Brandy. "Social media hosted a lot of fake health news this year. Here's what went most viral.". NBC News, (29 Dec. 2019). Retrieved 23 Jul 2020.

3. Inayati, Nabeela Khan, Iqbal, Sobuhi. "Why it’s important to survive fake news about cancer". Health Analytics Asia, (20 Sep. 2019). Retrieved 23 Jul 2020.

4. Shi, Siyu et al. “False News of a Cannabis Cancer Cure.” Cureus vol. 11,1 e3918. 19 Jan. 2019, doi:10.7759/cureus.3918

5. Johnson SB, Park HS, Gross CP, Yu JB. Complementary Medicine, Refusal of Conventional Cancer Therapy, and Survival Among Patients With Curable Cancers. JAMA Oncol. 2018;4(10):1375–1381. doi:10.1001/jamaoncol.2018.2487

6. Grimes, David Robert. "How to survive the fake news about cancer". The Guardian, (14 Jul. 2019). Retrieved 23 Jul. 2020.

7. The Lancet Oncology "Oncology, “fake” news, and legal liability". vol 19, issue 9, P1135, 01 Sep. 2018, doi:https://doi.org/10.1016/S1470-2045(18)30610-7

ภาพ Micrograph ของมะเร็งรังไข่

ภาพประกอบจาก Nephron / (CC BY-SA 3.0)