รองอธิบดี คร.เผยข้อมูลป่วยทั่วโลกกว่า 20 ล้าน อาจต่ำกว่าความเป็นจริง 10 เท่า เพราะมีกลุ่มติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ไป รพ. ขณะที่ไทยตรวจหาโควิด19 ไม่ถึง 50% ในผู้ป่วยปอดบวม ย้ำสถานพยาบาลตรวจเพิ่ม! ชี้กรณีเวียดนามเป็นไปได้มีผู้ป่วยหลงเหลือ ดังนั้น ไทยต้องตรวจให้เร็ว ครอบคลุมกลุ่มอาการ
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวในการแถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอก 2 ว่า วันนี้เราไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่ที่ผ่านมายังพบคนเดินทางกลับจากต่างประเทศติดเชื้อเฉลี่ย 5-6 คน ดังนั้นประเทศไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่อยู่ และมีโอกาสค่อนข้างสูง ทุกคนจึงต้องทบทวนบทบาทของตัวเอง องค์กรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดกว้างขวาง หากเจอผู้ป่วยก็ควบคุมได้เร็ว อย่าตระหนก อย่างไรก็ตามกรณีมีบุคลากรการแพทย์ให้ความเห็นว่าถ้ามีการระบาดใหม่แล้วอาจจะทำให้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น ตนก็คิดว่าก็อาจจะเกิดการติดเชื้อได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ได้เร็วมาก คิดว่าหากเจอผู้ป่วยน่าจะคุมได้ อยู่ที่ว่าจะเอาจริงแค่ไหน
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า วันนี้มีการประเมินว่าอัตราการป่วยของทั่วโลกที่รายงานในแต่ละวันนั้นต่ำว่าอัตราการป่วยจริง 10 เท่า เพราะมีคนกลุ่มหนึ่ง อาจจะมีการติดเชื้อไม่มีอาการ อาการน้อย จึงไม่ได้ไปรพ. จึงไม่มีรายงานตรงนี้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ไทยจับตาอยู่ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามที่มีการระบาดระลอก 2 ทั้งที่ไม่มีผู้ป่วยมานานกว่า 90 วัน ซึ่งจนวันนี้ยังไม่สามารถสอบสวนหาสาเหตุได้ แต่มีสมมติฐานว่าอาจจะเกิดจากการมีผู้ป่วยหลงเหลือในประเทศ กับการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศจากการลักลอบเข้าเมือง หรือการหละหลวมของสถานที่กักกัน
เมื่อถามว่าการที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาประเมินว่าไทย และนิวซีแลนด์มีความเสี่ยงต่ำ ในขณะที่ประเทศรอบๆ ไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าเหตุใดถึงได้รับการประเมินเป็นประเทศเสี่ยงสูง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า กรณีนี้ยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่หากเป็นการประเมินรอบแรก ผู้ประเมินจะดูเรื่องจำนวนผู้ป่วย ความเข้มแข็งของการควบคุมโรค จำนวนผู้เสียชีวิต ดูโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งของไทยมีอัตราเสียชีวิตต่ำ สิ่งหนึ่งที่ต้องแสดงให้เห็นให้ได้ คือมาตรการควบคุมป้องกันโรคนั้นทำได้ดี ทำได้เต็มที่หรือไม่ ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีบทความเกี่ยวกับการระบาดในเวียดนามระลอกใหม่นั้นเกิดจากการมีผู้ป่วยค้างในประเทศ และทางการเวียดนามตรวจเจอผู้ป่วยได้ช้าไป 2 สัปดาห์ ทำให้การควบคุมโรคทำได้ช้าไปด้วย ดังนั้นการจะทำให้ได้รับการยอมรับว่าคุมโรคได้ดีอย่างน้อยต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งในการตรวจค้นหาเชื้อ และถ้าไทยเกิดเจอผู้ติดเชื้อการจะคุมโรคให้ได้เร็วก็ต้องค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็ว
“วันนี้ในส่วนของประเทศไทยเองก็ยอมรับว่าตรวจน้อย ไม่ถึง 50% ของจำนวนผู้ป่วยปอดบวม เพราะส่วนหนึ่งหาสาเหตุได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้สถานพยาบาลเพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยปอดบวมทุกราย เพราะถ้าดูที่การระบาดในเวียดนามครั้งนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดเพราะยังมีคนป่วยหลงเหลืออยู่ในประเทศ ถ้าเราไม่อยากให้คนไข้หลงเหลือเราต้องตรวจให้เร็ว ตรวจให้ครอบคลุมกลุ่มอาการที่เรากำหนด คือปอดบวม ปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการ คล้ายไข้หวัดใหญ่ กรณีเกิดการป่วยเป็นกลุ่มก้อน หรือเน้นไปบางพื้นที่ ทุกอย่างต้องมีคำอธิบาย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่มีแรงงานต่างด้าวต้องการกลับเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก ขณะนี้มีการขอรับการประเมินและอนุญาตจัดตั้งสถานที่กักกันเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine) มากน้อยแค่ไหน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ถ้ามองสภาพความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยตอนนี้ก็แย่ จึงคิดว่าแรงงานที่จะกลับเข้ามาอาจจะไม่มากนัก อย่างไรก็ตามกรณีผู้ประกอบการที่ยังจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวควรมีการจัดและส่งให้ทางการประเมินสถานที่กักกันขององค์กร ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสถานประกอบการณ์ใดยื่นขอรับการประเมินเข้ามา
เมื่อถามถึงกรณีสื่อญี่ปุ่นรายงานว่ามีชายญี่ปุ่นอายุ 40 ปี ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศไทย ถึงญี่ปุ่นวันที่ 8 ส.ค. ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอข้อมูล กับทางการญี่ปุ่น
- 21 views