ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยโรคหูดข้าวสุกหายเองได้ แต่ควรรักษาป้องกันการแพร่กระจาย แพทย์เผยปัจจุบันไม่มียารักษาโดยตรง แต่มีทางเลือกใช้การจี้ความเย็น -บีบตุ่ม- บ่งตุ่ม” แต่ต้องทำโดยแพทย์ผิวหนัง ย้ำอย่าแกะ เกาอาจติดเชื้อ

วันที่ 17 ก.ย. นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหูดข้าวสุกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ระยะฟักตัวตั้งแต่ 3 – 12 สัปดาห์ สามารถติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว พบบ่อยในเด็ก และพบอาการทุกส่วนของร่างกาย โดยทั่วไปโรคหูดข้าวสุกสามารถหายเองได้ โดยป้องกันการติดต่อและการแพร่กระจายการติดเชื้อแทรกซ้อนของโรค

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า หูดข้าวสุกมีลักษณะเป็นตุ่มนูนรูปครึ่งวงกลม สีเนื้อ หรือขาวขุ่น ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบมัน อาจมีรอยบุ๋ม ตรงกลางตุ่ม ถ้าสะกิดและกดตุ่มออกจะได้เนื้อสีขาวขุ่นคล้ายข้าวสุก ตุ่มอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเรียงกันเป็นแนวยาว และหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาแต่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ห้ามแกะ เกา ตุ่มเพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบตุ่มขนาดใหญ่ หรือมีจำนวนมาก

“การรักษาหูดข้าวสุกอาจหายได้เอง แต่จำเป็นต้องรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรงเฉพาะโรค ปัจจุบันใช้ทางเลือกสำหรับการรักษา คือ 1.การจี้ความเย็น คือ การจี้ด้วยไนโตรเจนเหลว จนทำให้เกิดวงน้ำแข็งขึ้นรอบตุ่ม อาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง 2.การบีบตุ่มโรคให้แตก 3.การใช้ไม้สะอาดปลายแหลมบ่งตุ่มโรค อย่างไรก็ตามการรักษาทางเลือกต้องอยู่ใต้ใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้เพราะอาจทำให้โรคกำเริบ ลุกลามไปบริเวณอื่น หรือติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง