ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“หมออัจฉริยะ” เปิดใจถึงปัญหางบประมาณการแพทย์ฉุกเฉินไม่เพียงพอ! ไม่ได้เพิ่งเกิดในปี 2563 แต่เป็นปัญหาสะสม ทำค้างจ่ายหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน รอลุ้นของบกลาง 200 ล้าน หวังเคลียร์ปัญหาก่อนสู้ต่อไปปี 64

ทันที ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ออกมาเผยถึงปัญหาขาดงบประมาณ จนอาจทำให้ต้องชะลอกิจการแห่งรัฐนี้ 1669 for life saving ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพราะเหตุใดหน่วยงานที่บริหารจัดการดูแลชีวิตคน ถึงได้ขาดงบประมาณได้...

เพราะเมื่อพิจารณาตามภาระหน้าที่ของ สพฉ. ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ ที่รู้จักกันดีในชื่อ 1669 ไม่ว่าจะเป็นการประสานหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่ช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินให้พ้นวิกฤต รวมทั้งการดูแลโครงการยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรี 72 ชั่วโมง ฯลฯ จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลชีวิตคน ควรได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ล่าสุดผมได้หารือกับท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความจำเป็นในการได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากงบปี 2564 ผ่านไปแล้ว จึงขอให้มีการใช้งบกลางมาทดแทน ซึ่งท่านนายกฯ ก็เห็นชอบ และสั่งการไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพราะงานการแพทย์ฉุกเฉินต้องเดินหน้าต่อเนื่อง และปัจจุบันยังมีพื้นที่ห่างไกลอีกมากที่การแพทย์เข้าไม่ถึง ขณะที่สพฉ.เองก็พยายามอบรมขยายเครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุม เพื่อการดูแล และส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน...” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบข้อสงสัยถึงปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สัมภาษณ์ “ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา” เลขาธิการ สพฉ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2563 แต่เริ่มมีปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2562-2563 โดยงบ สพฉ. มี 2 ส่วน คือ ส่วนแรก งบประมาณสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และส่วนที่ 2 คือ งบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งงบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นงบที่ใช้สำหรับให้บริการดูแลพี่น้องประชาชนโดยตรง ทั้งเรื่องการโทรสายด่วน 1669 ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะกองทุนจ่ายให้ และค่าดำเนินงานของหน่วยฉุกเฉินทั่วประเทศที่ออกพื้นที่ให้บริการประชาชน โดยกองทุนจ่ายให้ทั้งหมด แต่มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ เป็นผู้บริหารจัดการ

ดังนั้น งบสถาบันฯก็จะสัมพันธ์กับงบกองทุน โดยงบของสพฉ. เป็นงบบุคลากร งบดำเนินงาน และงบลงทุนก่อสร้างตึกและครุภัณฑ์ต่างๆ หากพิจารณาจากงบสถาบันฯในปี 2562 , 2563 และ 2564 จะเห็นว่า งบปี 2563 งบบุคลากรลดลงจากปี 2562 ลดลงถึง 20 กว่าล้านบาท ทำให้มามีปัญหาตอนสิ้นปี 2563

งบประมาณกองทุนปี 2562 เคยได้รับประมาณ 900 กว่าล้านบาท แต่ต่อมาปี 2563 ถูกปรับลดเหลือ 800 ล้านบาทเศษๆ แต่ปี 2564 เหมือนเพิ่มขึ้น แต่ไม่เท่าปี 2562 ปัญหา คือ ปี 2563 ถูกลดงบประมาณลง ซึ่งทำให้มีปัญหาการดำเนินงาน อย่างปี 2562 เราจ่ายเงินชดเชยหน่วยฉุกเฉินที่ออกให้บริการประชาชนทั่วประเทศประมาณ 900 กว่าล้านบาท แต่ยังขาดอีก 94 ล้านบาท เราก็ต้องเอางบประมาณของปี 2563 ไปจ่ายแทน แต่พอมาปี 2563 งบไม่พออีกประมาณ 200 กว่าล้านบาท ก็เกิดจากการไม่พอสะสมค้างมาตั้งแต่ปีก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี 72 ชั่วโมง หรือสิทธิ UCEP (ยูเซ็ป) ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล ปี 2563 ยังถูกลดงบ70-80% เช่นกัน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินฯ (บอร์ด สพฉ.) เพื่อของบกลางประมาณ 200 กว่าล้านบาทมาใช้ดำเนินการ โดยบอร์ดผ่านความเห็นชอบ แต่เมื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณกลับไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยบริการฉุกเฉินทั่วประเทศขอชะลอจ่ายจนกว่าสำนักงบพิจารณางบกลางฉุกเฉินให้จึงจะดำเนินการจ่าย

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มว่า จะทำอย่างไร เนื่องจากยังค้างเงินหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินอยู่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ปี 2563 จ่ายไปประมาณ 9 เดือนครึ่ง ซึ่งหากได้งบกลางมาก็จะได้เคลียร์ได้ ซึ่งน่าจะค้างอีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ส่วนปี 2564 ก็ต้องลุ้นอีกว่าจะพอใช้ทั้งปีหรือไม่ เนื่องจากแนวโน้มการเข้าถึงบริการฉุกเฉินของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี

“ต้องขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกฯ-รมว.สธ.ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล จากนี้ก็ต้องไปหารือกับทางสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไปว่า จะสนับสนุนงบเท่าไหร่ เพื่อชดเชยในส่วนที่ไม่พอ อย่างไรก็ตาม เงินในส่วนหน่วยฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเขา เพราะหากไม่ดูแล เขาไม่วิ่งก็จะกระทบประชาชนได้ ซึ่งเฉลี่ยมีการวิ่งเคสประมาณ1.8 ล้านเคสต่อปี เดิมอยู่ที่เฉลี่ยไม่เกิน 1.5 ล้านเคส แต่การเข้าถึงบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทั้งหมดก็เพื่อการบริการประชาชน” เลขาธิการ สพฉ.กล่าวทิ้งท้าย

ต้องรอลุ้นกันว่า สุดท้ายสำนักงบประมาณจะพิจารณาอนุมัติงบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้หรือไม่ อย่างไร...