ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

9 เดือนที่ผ่านมา กับการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์บนโลกออนไลน์ของเว็บไซต์  “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง” หรือ Anti Fake Cancer News (AFCN) ซึ่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานเชิงรุกบนโซเชียลมีเดีย ประสานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti Fake News Center (AFNC) ประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างมาก มีประสิทธิผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะในหลายๆประเด็นเมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งออกมาให้ความชัดเจน ก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับชาวบ้านได้ในทันที

ขั้นตอนการทำงาน คือทางกระทรวงดีอี คัดกรองเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งแล้วส่งข้อมูลมาที่ศูนย์ฯ นอกจากนี้จะมีทีมงานอีกส่วนหนึ่งเข้าไปหาข่าวทางเว็บไซต์ ข่าวปลอมในกระแส

นับจากวันที่ 9 มี.ค.ซึ่งตั้งศูนย์ฯ จนถึงวันที่ 11 ธ.ค. 2563 มีตัวเลขระบุว่า AFCN รับข่าวที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งจาก กระทรวงดีอี มาตรวจสอบมากถึง 301 เรื่อง ,ตรวจสอบแล้ว 111 เรื่อง และส่งให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดีอี นำไปเผยแพร่แล้ว 62 เรื่อง ในขณะที่ศูนย์ฯ เผยแพร่เอง 64 ข่าว

เฉลี่ยแล้วศูนย์ฯ ได้ทำการตอบโต้ชี้แจงข่าวปลอมที่เกี่ยวกับมะเร็งประมาณ 7 เรื่องต่อเดือน

ซึ่งก่อนจะตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมา พบว่าในปี 2562 มีการสำรวจพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ ข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงหนึ่งคือ “กัญชารักษามะเร็ง” ส่วนการชี้แจงมะเร็งเรื่องของแพทย์ก็หลากหลาย ขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลบางแห่งด้วย การให้ข่าวจึงแตกต่างกันไปและไม่เป็นทิศทางเดียวกัน  

นพ.จุมพล สิงห์หิรัญนุสรณ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันแหล่งที่ได้ข่าวปลอมมาเกือบจะทั้งหมดมาจากสื่อโซเชียล และเว็บไซต์

“แต่ถามว่าใครเป็นคนกุข่าว อันนี้ตอบยาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีผลประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีสมุนไพรแล้วก็อ้างว่ารักษามะเร็ง หรือเป็นผู้ที่พอจะมีภูมิทางด้านสมุนไพรมีความปรารถนาดีที่จะสื่อบุญให้กับคนอื่นนี่ก็เจอบ่อย”

ทั้งนี้ ข่าวมะเร็งที่ถูกแชร์บนสื่อโซเชียลส่วนใหญ่เป็นเรื่องสมุนไพรที่แอบอ้างว่าสามารถรักษามะเร็งนิดต่างๆได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริง

“เรื่องมะเร็งกับการรักษาที่เป็นแพทย์แผนไทยหรือว่าแพทย์ร่วมสมัย เป็นเรื่องที่หาง่ายใกล้ตัวราคาถูก มีการโฆษณาค่อนข้างเยอะ ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย สมุนไพรหลายตัวก็มีประโยชน์จริง เราจะบอกว่ารักษามะเร็งต้องมาดูว่ามีงานวิชาการหรืองานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ระดับชาติ ระดับนานาชาติที่ได้รับความน่าเชื่อถือหรือเปล่า ต้องตรวจสอบตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ ไม่ใช่สมุนไพรอย่างหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้ยกตัวอย่างว่าน มีทั้งว่านแดง ว่านขาว ว่านดำ แต่ละสีเป็นว่านชนิดเดียวกันหมด หนึ่งข่าวเป็นว่านสีแดงก็ต้องมาแก้ข่าว ว่านดำก็ต้องแก้หนึ่งข่าว บางครั้งมันเลยทำให้สมุนไพรเป็นกระแสหลักของข่าวปลอมด้านโรคมะเร็ง เราบอกได้แค่ว่าข่าวนี้มันไม่จริง หรือบิดเบือน ไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิชาการ เราพูดได้แค่นี้ เพราะเราไม่ได้นำมันมาใช้” นพ.จุมพล อธิบายหลักการตรวจสอบข่าวปลอมเกี่ยวกับสมุนไพรรักษามะเร็ง

“เราจะสรุปข่าวเป็น 3 ประเภท คือข่าวจริง ,ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน เช่นยาย้อมผม คนที่ย้อมผมบ่อยๆ ทำให้เป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง ข่าวแบบนี้เราไปบอกปลอมก็ไม่ได้เพราะในยาย้อมผมก็มีสารเคมี ซึ่งสารเคมีก็ทำอันตรายทางด้านอื่น อาจไม่เกี่ยวกับมะเร็งโดยตรง อย่างนี้ก็ต้องให้เป็นข่าวบิดเบือน”

รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งที่ตรวจเจอได้ในระยะต้นจะสามารถรักษาหายได้ แต่จะตอบว่าทุกชนิดไม่ได้ เพราะมีรายละเอียดที่สำคัญหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับชนิด ขึ้นอยู่กับอวัยวะ

“โรคมะเร็งไม่สามารถตอบคำถามได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทั่วไปพอพูดว่าเป็นมะเร็งก็น่ากลัว ถามว่ารักษาได้ไหม ในทุกระยะรักษาได้หมด แต่รักษาหายไหมต้องถามว่าอวัยวะใด และอวัยวะนั้นเป็นระยะที่เท่าไร แล้วในแต่ละระยะ แต่ละอวัยวะก็ได้ผลการรักษาที่ไม่เหมือนกัน สมุนไพรที่อ้างว่ารักษามะเร็งนั้น ต้องดูว่ารักษามะเร็งอะไร เช่น มะเร็งเต้านม เราก็จะต้องดูเรื่องมะเร็งเต้านมว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับสมุนไพรนี้หรือเปล่า แล้วอาการมะเร็งอยู่ในระยะไหน”

“เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ต้องระบุว่าเป็นอาหารเสริมชนิดใด ต้องอธิบายให้คนเข้าในก่อน คำว่ารักษามะเร็งแปลว่าอะไร ไม่มีใครกล้าพูดว่าอาหารเสริมทำให้มะเร็งหาย เนื่องจากว่ามันไม่มีการวิจัยชัดเจน แต่ถ้าบอกว่าเป็นมะเร็งแล้วห้ามซื้ออาหารเสริมก็ไม่รู้จะห้ามเขาอย่างไร แล้วอาหารเสริมที่ขายคืออะไร มีส่วนประกอบอะไร”

“สมมติคุณได้รับยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งเต้านม ระยะที่ 1 คุณผ่าตัดระยะที่ 2-3 เราคาดหวังผลว่าคุณจะอยู่ได้อีกกี่ปีนี่เป็นหลักวิชาการ แต่ถ้าบอกว่างั้นไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดเลยไปกินอาหารเสริมอะไรสักชนิด ถามว่าทำได้ไหม ทำไม่ได้เพราะผิดจริยธรรม ไม่สามารถทำวิจัยแบบนี้ได้ อาหารเสริมรักษาได้ไหมก็ต้องตอบว่าไม่มีหลักทางวิทยาศาสตร์ และข้อมูลทางวิชาการรองรับ” นพ.จุพล กล่าว  

เพราะฉะนั้น หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว สิ่งที่แพทย์ทุกคนจะแนะนำคือต้องเข้าสู่กระบวนการการกำหนดระยะโรค ว่าเป็นระยะใด เมื่อกำหนดระยะโรคแล้วจะได้มาซึ่งวิธีการรักษาเฉพาะของมะเร็งอวัยวะนั้นๆ ระยะนั้นๆ

ในฐานะ Fact Checker หรือผู้ทำงานคัดกรองตรวจสอบข่าวที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง นพ.จุมพล แนะนำวิธีการสังเกตระหว่างข่าวจริงกับข่าวปลอมโรคมะเร็ง ว่าข่าวดังกล่าวมีที่มาที่ไปชดเจน มีแหล่งข่าวที่เป็นทางการ หน่วยงานราชการ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ หรือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมวิชาการต่าง ข่าววิชาการจะถูกต้องแน่นอน แต่ถ้าแหล่งข่าวมาจากโซเชียล หรือเว็บไซต์ ไม่มีที่มาใดๆก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข่าวปลอม โดยเฉพาะข่าวที่กำกวม ไม่ระบุว่าเป็นอวัยวะใด ระยะใด พูดรวมๆต้องตระหนักก่อนเลยว่าอาจไม่ใช่ข่าวจริงทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ นพ.จุมพล จะไม่ปฏิเสธวิธีการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แต่ก็ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษาแบบ “ยาผีบอก” กับพระสงฆ์หรืออาจารย์ด้านไสยศาสตร์

“เป็นข่าวซอมบี้ที่เกิดวนไปวนมาว่าคนนั้นคนนี้รักษามะเร็งได้ จำหมอแสงได้ใช่ไหม ยาหมอแสงคนป่วยที่ศรัทธาไปรักษาหมอแสงมากมายมหาศาล มูลค่าทางเศรษฐกิจก็มหาศาล เมื่อเรามาพิสูจน์จริงๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์คำตอบคือยาหมอแสงรักษามะเร็งไม่ได้ นี่คือเราเอายามาพิสูจน์ แต่นอกเหนือจากนี้เราไม่ได้เอายาของทุกสำนักของพระหรือฆราวาสมาพิสูจน์ เราไม่มีแรงขนาดนั้น แต่ในกรณีหมอแสงสถาบันมะเร็งแห่งชาติทำเพราะเป็นข่าวที่มีผลกระทบสังคมระดับประเทศ ถ้าไม่ทำสังคมจะเกิดความสงสัยที่ค่อนข้างมากและคนเดือดร้อนเยอะ”

นพ.จุมพล ยังมองทิศทางของข่าวปลอมมะเร็งในปี 2564 ว่า การจะมีสมุนไพรหรืออาหารเสริมใดๆขึ้นมาอ้างสรรพคุณรักษามะเร็งยังคงเหมือนเดิม แต่วิธีการจูงใจให้ผู้หลงเชื่อเสียเงินซื้อในปัจจุบันมีรูปแบบการโน้มน้าวที่เปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมา

“ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมคิดว่าปีนี้กับปีหน้าไม่น่าจะต่างกันมาก ข่าวปลอมมะเร็งเป็นข่าวที่ค่อนข้างสั้น เขียนเชิญชวนได้กระชับ ทำให้คนมีความหวัง พูดค่อนข้างเคลียร์ เช่น ซื้อน้ำแข็งจากร้านนี้ลดมะเร็งตับ ถ้าเราฟังแล้วมีวิจารณญาณเราก็ว่ามั่ว แต่ชาวบ้านที่เขาไม่มีพื้นฐานเขาไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องโกหก ราคาไม่แพง ลองดูก็ไม่เสียหาย ข่าวพวกนี้เป็นข่าวที่สั้น กระชับ เป็นข่าวที่ค่อนข้างกล้าพูดว่าอันนี้รักษานั่นได้หาย เมื่อก่อนอาจไม่ได้กล้าพูดอย่างทุกวันนี้”

“อย่าลืมว่ามะเร็งมันเล่นกับคนไข้และญาติที่เขาไม่มีความหวังในการใช้ชีวิต ยิ่งคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยช่วงแรก มะเร็งถ้าเป็นหนึ่งคนก็เป็นกันทั้งบ้าน ความวิตกกังวล สภาพเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ทำให้คนรู้สึกว่าอะไรก็ได้ที่มันไม่แพงมาก อะไรก็ได้เขาพูดกันมา ลองไปก็ไม่เสียหาย นี่เป็นสิ่งที่เราไปบังคับก็ไม่ได้ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูล เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับความผิดทางกฎหมาย มีหน้าที่แค่เพียงองค์กรทางวิชาการที่คอยให้ข้อมูลสนับสนุนเท่านั้นเอง ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของประชาชน”  

จากข้อมูลของ นพ.จุมพล จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงระหว่างสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ระบุให้มีสรรพคุณแอบอ้างรักษามะเร็ง เพื่อสร้างข่าวปลอมให้ประชาชนเข้าใจผิดนั้น เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในธุรกิจการค้า หากใครสามารถดึงดูดผู้ป่วยมะเร็งให้หลงเชื่อได้ก็จะสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าอย่างมหาศาล